นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ กล่าวเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่ออนาคตของประเทศในระยะ 20 ปี ตามร่างยุทธศาสตร์ชาติว่า การยกร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นการมองอนาคตของประเทศในระยะยาว ทั้งในสิ่งที่ประเทศต้องเผชิญ และเป็นการวางกรอบการบริหารประเทศในสิ่งที่จำเป็นต้องดำเนินการ โดยไม่ละเลยเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งการจัดทำยุทธศาสตร์ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 5 วรรค 2 ซึ่งให้หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานมีหน้าที่ดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ
พร้อมกันนี้ ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีเลขาธิการ สศช.เป็นเลขานุการ และได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน ได้แก่ 1.คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง 2.คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 3.คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 4.คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 5.คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ 6.คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ
ทั้งนี้ คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้านได้จัดทำร่างยุทธศาสตร์เบื้องต้นเสร็จแล้ว และได้นำร่างดังกล่าวให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์ โดยมีการจัดประชุมรับฟังความเห็นใน 4 ภาค ได้แก่ ครั้งที่ 1 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 2 ก.พ.61 ที่ จ.ขอนแก่น ครั้งที่ 2 ภาคเหนือ เมื่อวันที่ 8 ก.พ.61 ที่ จ. เชียงใหม่ ครั้งที่ 3 ภาคกลาง ในวันที่ 16 ก.พ.61 ที่กรุงเทพมหานคร และครั้งที่ 4 ภาคใต้ ในวันที่ 22 ก.พ.61 ที่ จ.สงขลา
นายปรเมธี กล่าวว่า สศช.จะนำความคิดเห็นทั้งหมดประมวลเสนอต่อคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 คณะ เพื่อดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมร่างยุทธศาสตร์ชาติ โดยได้วางกรอบระยะเวลาดำเนินการซึ่งเตรียมเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติในวันที่ 9 เม.ย.นี้ และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 9 พ.ค.นี้ ก่อนที่จะนำเสนอให้ที่ประชุม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)พิจารณา ในวันที่ 8 ก.ค.นี้ และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ในวันที่ 18 ก.ค.61
ทั้งนี้เมื่อร่างยุทธศาสตร์ชาติประกาศใช้เป็นกฏหมายแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องแปลงไปสู่แผนปฏิบัติ โดยจะมีการกำหนดแผนแม่บทที่ระบุชัดเจนว่า ใครทำอะไร เรื่องไหนบ้าง
นายปรเมธีได้ยกตัวอย่างการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติในด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน เน้นการสร้างการเติบโตของประเทศให้เป็นประเทศพัฒนา เพิ่มรายได้ต่อหัวปรับเปลี่ยนจากรายได้ปานกลางสู่รายได้ระดับสูง และเพิ่มอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ในช่วงระยะ 15-20 ปี พร้อมทั้งทำให้ประเทศไทยเป็นมหาอำนาจทางการเกษตร เพิ่มผลผลิตและสร้างมูลค่าสินค้าเกษตร ปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมและบริการ ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีแห่งอนาคต ส่งเสริมให้ไทยเป็นแม่เหล็กการท่องเที่ยวระดับโลก พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมไทย เชื่อมโลก ด้วยการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมทั้งในพื้นที่และเมือง และสร้างนักรบเศรษฐกิจยุคใหม่ ด้วยการพัฒนาผู้ประกอบการที่มีทักษะและมีความสามารถในการแข่งขัน