(เพิ่มเติม) ม็อบค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินยุติชุมนุม หลังรมว.พลังงานสั่งทำรายงานผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ใหม่ให้ได้ข้อยุติใน 9 เดือน

ข่าวการเมือง Tuesday February 20, 2018 13:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าว แจ้งว่า เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน และเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดกระบี่ ซึ่งปักหลักชุมนุมประท้วงอดอาหารที่บริเวณหน้าสำนักงานสหประชาชาติ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ยอมยุติการเคลื่อนขบวนไปหน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อกดดันรัฐบาล หลังจากนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เดินทางมาเจรจากับผู้ชุมนุมฯ นานกว่า 1 ชั่วโมง หลังจากนั้นได้เชิญแกนนำผู้ชุมนุม พร้อมด้วยตัวแทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไปหารือในรถตู้กว่า 15 นาที พร้อมทั้งลงนามในบันทึกข้อตกลง

สำหรับบันทึกข้อตกลงดังกล่าวมีสาระสำคัญ คือ ให้ กฟผ.ถอนการเสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ฉบับใหม่ออกจากการพิจารณาฯ ภายใน 3 วัน นับตั้งแต่วันลงนาม และให้ กฟผ.ส่งหนังสือแจ้งการถอนรายงานไปให้เครือข่ายทราบ

พร้อมกันนี้ให้กระทรวงพลังงานจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) โดยนักกวิชาการที่มีความเป็นกลางที่ทั้ง 2 ฝ่ายยอมรับร่วมกัน เพื่อศึกษาว่าพื้นที่จังหวัดกระบี่ และอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา มีความเหมาะสมในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ ซึ่งหากผลการศึกษาออกมาว่าพื้นที่ก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้ง 2 แห่งไม่เหมาะสม กฟผ.จะต้องยุติการดำเนินการ โดยการจัดทำรายงานจะต้องเสร็จสิ้นภายใน 9 เดือนนับแต่วันลงนาม

ทั้งนี้หากรายงานการประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) บ่งชี้ว่า พื้นที่มีความเหมาะสมในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในขั้นตอนการจัดทำ EHIA จะต้องกระทำโดยคนกลางที่ยอมรับร่วมกัน นอกจากนี้ขอให้คดีความระหว่าง กฟผ.และเครือข่ายเลิกแล้วต่อกัน ซึ่งภายหลังการยุติการชุมนุม ผู้ชุมนุมได้เก็บข้าวของเดินทางกลับทันที หลังจากปักหลักชุมนุมต่อเนื่องมากว่า 1 สัปดาห์

ด้านว่าที่ พ.ต.อนุชาต ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการชุมชนสัมพันธ์และสิ่งแวดล้อมโครงการ กฟผ. เปิดเผยว่า กฟผ. พร้อมปฏิบัติตามนโยบายของภาครัฐ ที่ให้ กฟผ. ถอนรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(EHIA) โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่(ฉบับใหม่) ออกจากสำนักงานนโยบายและแผนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) ภายใน 3 วัน โดยให้ กฟผ. จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) เพื่อศึกษาความเหมาะสมของพื้นที่จ.กระบี่ และอ.เทพา จ.สงขลา ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ แล้วเสร็จภายใน 9 เดือน

ทั้งนี้เมื่อมีความเห็นต่างกัน จำเป็นต้องหาทางออกร่วมกัน ซึ่ง กฟผ. จะต้องตีความข้อสั่งการ และหารือกับทาง สผ. ก่อนว่าข้อสั่งการจะออกมารูปแบบใด โดยที่ผ่านมาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเริ่มทำ EHIA ตั้งแต่ปี 2555 และเทพา ปี 2557

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีหรือไม่มีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่ต้องยอมรับว่าปัจจุบันภาคใต้ไฟฟ้าไม่เพียงพอ ต้องส่งไฟจากส่วนกลางเข้าไปเสริม จึงมีความเสี่ยงหากไม่มีโรงไฟฟ้าหลักในพื้นที่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ