คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านบริหารราชการแผ่นดินและด้านกระบวนการยุติธรรม ชี้แจง ความคืบหน้าปฏิรูปประเทศไทย หัวข้อ "สร้างมิติใหม่ภาครัฐ ยืนหยัดยุติธรรม"
นางเบญจวรรณ สร่างนิทร รองประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านบริหารราชการแผ่นดิน กล่าวว่า คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ได้จัดทำแผนการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2561- 2565 ซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ภาครัฐสามารถตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของประชาชนที่หลากหลายได้อย่างมีประสิทธิผล และได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากประชาชน จึงกำหนดกลไกการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ประกอบด้วยประเด็นปฏิรูป 6 เรื่อง ดังนี้ 1.จัดบริการภาครัฐที่สะดวกรวดเร็วสนองความต้องการของประชาชน 2.จัดทำระบบข้อมูลภาครัฐให้มีมาตรฐาน ทันสมัย และเชื่อมโยงเพื่อก้าวเข้าสู่รัฐบาลดิจิทัล 3.ปรับโครงสร้างภาครัฐให้มีความกะทัดรัด คล่องตัว และมีประสิทธิภาพ 4.จัดโครงสร้างกำลังคนภาครัฐที่เหมาะสมและมีสมรรถนะสูง 5.จัดระบบบริหารงานบุคคลที่สามารถดึงดูด สร้าง และรักษาคนเก่งไว้ในภาครัฐ และ 6.มีระบบการจัดซื้อจัดจ้างที่คล่องตัว โปร่งใส และมีกลไกป้องกันทุจริต
"ภาครัฐถือเป็นเสาหลักของแผ่นดิน และการบริหารราชการแผ่นดินถือเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้บรรลุวิสัยทัศน์ "มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ภาครัฐสามารถตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของประชาชนที่หลากหลายได้อย่างมีประสิทธิผล และได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากประชาชน จึงกำหนดกลไกการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม"
ทั้งนี้ สิ่งที่ประชาชนจะสามารถจับต้องได้คือ การจัดทำหมายเลขฉุกเฉินแห่งชาติ 191 ซึ่งหลังจากสำรวจความคิดเห็นจากประชาชนแล้ว 80-90% มีความคุ้นเคยและรู้จักหมายเลขโทรศัพท์ดังกล่าวดี ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการตราออกมาเป็นกฎหมาย
ด้านนายชาญณรงค์ ปราณีจิตต์ กรรมการและเลขานุการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม กล่าวว่า ในส่วนของกระบวนการยุติธรรมนั้นกำหนดแผนปฏิรูปไว้ 10 ประเด็น คือ 1.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในทุกขั้นตอนที่ชัดเจน 2.พัฒนากลไกช่วยเหลือและเพิ่มศักยภาพให้ประชาชนเข้าถึง 3.พัฒนากลไกการบังคับการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ 4.การปรับกระบวนทัศน์ในการบริหารงานยุติธรรมเพื่อสร้างความปลอดภัยและความเป็นธรรมในสังคม 5.การปรับปรุงระบบการสอบสวนคดีอาญาเพื่อให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการที่เหมาะสม 6.กำหนดระยะเวลาในการปฏิบัตืหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้คดีขาดอายุความ 7.การพัฒนาระบบการสอบสวนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ 8.การปฏิรูประบบนิติวิทยาศาสตร์เพื่อความถูกต้องสมบูรณ์ของข้อเท็จจริงแห่งคดี 9.การเสริมสร้างและพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมเพื่อมุ่งอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนโยสะดวกและรวดเร็ว และ 10.การพัฒนาประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ
"การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเป็นเรื่องยาก เนื่องจากแต่ละหน่วยงานมีความเป็นอิสระ แต่เมื่อมีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลเข้าด้วยกันจะช่วยให้การดำเนินกระบวนการยุติธรรมเกิดความรวดเร็ว"นายชาญณรงค์ กล่าว