รัฐบาลไม่ปิดกั้นการปรับปรุงแก้ไขยุทธศาสตร์ชาติ-แผนปฏิรูปประเทศ พร้อมประเมินผลทุก 5 ปีควบคู่แผนสภาพัฒน์

ข่าวการเมือง Saturday February 24, 2018 10:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน"ว่า ในอนาคตการบริหารราชการแผ่นดินของประเทศไทยจะมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนการปฏิรูปประเทศ ประเด็นต่าง ๆ เป็นกรอบภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยช่วงนี้อยู่ระหว่างการประชาสัมพันธ์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมจากทุกภาคส่วน ก่อนที่คณะกรรมการที่รับผิดชอบจะนำข้อเสนอแนะต่าง ๆ มาปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม แล้วเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบและมีผลบังคับใช้ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ระหว่างการจัดทำยุทธศาสตร์ และแผนปฏิรูปก็ยังสามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ตามความเหมาะสมของสภาพแวดล้อมที่อาจจะไม่เป็นไปตามการคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า แต่ทั้งนี้จะต้องเป็นไปตามกลไกที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ คือการรับฟังความคิดเห็นของสาธารณะชน และการพิจารณาของรัฐสภาเป็นสำคัญ โดยจะต้องมีการประเมินผลทุก 5 ปี คู่ขนานกับการปรับปรุงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12–15 ด้วย

"ทุกปี คณะทำงานติดตามก็จะมีการติดตามประเมินผล แล้วก็ปรับเปลี่ยนจากสถานการณ์ภายใน และภายนอกประเทศ ที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้เกิดการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลที่เหมาะสม" นายกรัฐมนตรีกล่าว

พร้อมระบุว่า ปัจจุบันรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำลังขับเคลื่อนด้วยโครงการ "ไทยนิยมยั่งยืน" มีการจัดตั้งคณะทำงานบูรณาการหน่วยงานทุกภาคส่วน แบ่งออกเป็นระดับรัฐบาล ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล ออกเยี่ยมเยียนประชาชนเป็นรายครัวเรือนหรือรายบุคคล เพื่อจะร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาความเดือดร้อน ค้นหาความต้องการของประชาชน หมู่บ้าน ชุมชน เพื่อจะเพิ่มขีดความสามารถ การสร้างมูลค่า หรือการลงทุน เพื่อให้ประชาชนร่วมกันคิดจะทำประโยชน์อย่างไรในพื้นที่ ให้พื้นที่นั้นทุกคนมีรายได้ที่พอเพียง ส่วนเรื่องงบประมาณ จะมีทั้งจากบนลงไปล่าง แล้วก็จากล่างขึ้นมาบน ซึ่งการจัดทำงบประมาณจะต้องรับฟังความต้องการของประชาชนด้วย

"ในการทำกิจกรรมที่ไม่ตรงกับหลักการ ของโครงการไทยนิยมยั่งยืน ก็จะต้องเสนอโครงการขึ้นมาในกรอบการเสนอของงบประมาณประจำปี ให้กรรมการที่สูงกว่าขึ้นมาได้พิจารณานำเสนอการใช้ในงบปกติ หรืองบบูรณาการในการใช้จ่ายงบประมาณในปีต่อไปด้วย เหมือนกับไปทำ Big data ด้วย" นายกรัฐมนตรีกล่าว

นายกรัฐมนตรียังได้สั่งการให้เพิ่มช่องทางสื่อสารโดยเปิด Website และ Facebook ชื่อ "สายตรง ไทยนิยม" เพื่อรับคำร้องเรียน ร้องทุกข์ ข้อเสนอแนะ แสดงความคิดเห็น และใช้ในการกระจายข้อมูลข่าวสารจากภาครัฐ ข้อมูลสาธารณะประโยชน์ ข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่อยู่ในความสนใจของประชาชนเป็นสำคัญเสริมช่องทางเดิมที่มีอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว ทั้งสายด่วน 1111 และ 1567 โทรฟรีทั่วไทย ตลอด 24 ชั่วโมง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ