นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีการสรรหากรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รอบใหม่ว่า อย่ากังวลเรื่องจะไม่มีคนมาสมัคร เพราะ กกต.ก็มีสถานะเหมือนองค์กรอิสระอื่น และหากมีปัญหาเรื่องเกษียณอายุก็สามารถใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งขยายเวลาการทำงานต่อไปได้เหมือนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
"อย่าไปประมาทคาดหน้าเลย ไม่มีองค์กรขั้นเทพ เอาน่า...เขาทำกันได้ไม่มีทางตัน ถ้าหาทางออกไม่ได้ก็กลับมาตรงทางเข้า"นายวิษณุ กล่าว
พร้อมระบุว่า กรณีดังกล่าวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นไรอย่างไร คสช.ก็จะถูกครหาทั้งนั้น และการที่ยังไม่มี กกต.ชุดใหม่ก็ไม่กระทบอะไรทั้งนั้น ตราบใดที่ยังไม่ถึงเลือกตั้ง ส่วนการเลือกตั้งท้องถิ่นมีความคล่องตัวกว่าการเลือกตั้งระดับชาติ
"ไม่ว่าจะออกมาอย่างไร คสช.ก็โดน ถ้าไปคุยกับ สนช.ก็จะรู้ ที่ผ่านมาสภาฯ เคยไม่เอา ป.ป.ช. สภาฯ เคยไม่เอาเลขาฯ กฤษฎีกา" นายวิษณุ กล่าว
ส่วนกรณีมีผลสำรวจว่าประชาชนชื่นชอบการทำงานของตนนั้น ไม่รู้สึกอะไรเป็นพิเศษ เพราะเป้าหมายสำคัญคือการแก้ไขปัญหาของประเทศเพื่อให้ดัชนีความเชื่อมั่นขยับดีขึ้นภายใน 5 ปี
สำหรับความคืบหน้าการแก้ปัญหาเรื่องการจ่ายค่าสัมปทานของทีวีดิจิทัลนั้น ขณะนี้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ส่งหนังสือยืนยันแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาถึงตนเองแล้ว ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งเชื่อว่าจะเสร็จทันก่อนถึงเวลาเซ็นสัญญาจ่ายค่าสัมปทานรอบใหม่แน่นอน
นายวิษณุ ยังกล่าวถึงการประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาค (ก.บ.ภ.) และคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.น.จ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานว่า ที่ประชุมฯ ได้มีการหารือเรื่องแผนจัดทำ Big DATA เพื่อนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในการบริหารประเทศ เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับคนจนเพื่อจะได้ช่วยเหลือถูกทาง
ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ มอบหมายให้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นเจ้าภาพในเรื่องนี้ โดยหน่วยงานสามารถใช้เครื่องมือเดิมที่มีอยู่ แค่เชื่อมต่อข้อมูลกันเท่านั้น แต่พบปัญหามีบางเรื่องที่หน่วยงานเจ้าของเรื่องไม่สามารถเปิดเผยได้