นายยุทธนา ทัพเจริญ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) แถลงว่า ที่ประชุมวิปได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ที่มีสาระสำคัญต้องแก้ไขในประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำของพรรคการเมืองขนาดใหญ่และขนาดเล็ก เช่น เรื่องทุนประเดิมพรรคการเมือง การจัดตั้งพรรคการเมือง เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้ทางคณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะ และรวบรวมความเห็น เพื่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ สนช.ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 เป็นประธาน รับเรื่องไปศึกษา ซึ่งหากเรียบร้อยแล้ว จะได้นำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมวิป หากวิปให้ความเห็นชอบก็จะเข้าสู่ที่ประชุม สนช.ต่อไป
ด้าน นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สนช.กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายในส่วนของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ว่า กมธ.ร่วมได้พิจารณาครบถ้วนทุกประเด็นพบว่าไม่มีปัญหา ขั้นตอนต่อไปจะนำเข้าสู่ที่ประชุม สนช.และลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในวันที่ 8 มี.ค.นี้ ซึ่งคาดว่ากฎหมายฉบับนี้จะผ่าน สนช.ไปได้ด้วยดีและแนวทางโรดแมพก็จะชัดเจนขึ้น เพราะยังมองไม่เห็นว่าจะมีปัญหาเกิดขึ้น
ส่วนข้อกังวลที่จะมีการคว่ำกฎหมายฉบับนี้นั้น หากเกิดกรณีเช่นนี้จริง กระบวนการเริ่มร่างใหม่จะอยู่ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพราะกฎหมายยังไม่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาจึงอยู่ในความรับผิดชอบของ กรธ.แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่เห็นว่าจะมีการคว่ำกฎหมายฉบับนี้
ด้านนายสมชาย แสวงการ โฆษกกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติให้ตัดสิทธิผู้ที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง จะถูกตัดสิทธิการลงสมัครกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ส.ส. และ ส.ว. รวมถึงห้ามดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง ตามระเบียบข้าราชการรัฐสภา รวมถึงตัดสิทธิการลงสมัครผู้บริหารท้องถิ่น
ส่วนประเด็นค่าใช้จ่ายของพรรคการเมือง เดิมที่กำหนดให้มีจำนวนเท่ากันทุกพรรคตามหลักเกณฑ์ที่ กกต.กำหนด กรรมาธิการฯ เกรงว่าอาจเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างพรรคการเมืองใหญ่กับพรรคการเมืองเล็ก ที่ประชุมจึงเห็นว่า ไม่ให้นำผู้สมัครของแต่ละพรรคที่มีจำนวนไม่เท่ากันมาคำนวณเป็นฐาน จึงมีมติให้ตัดคำว่าเท่าเทียมกันออก โดยจะใช้จำนวนผู้สมัคร ส.ส.ทั้งระบบแบ่งเขตและระบบปาร์ตี้ลิสต์เป็นฐานในการคำนวณ ส่วนสัดส่วนการคำนวณจะเป็นเท่าใดนั้นให้ กกต.กับพรรคการเมืองไปตกลงกัน
ขณะที่ประเด็นการช่วยเหลือผู้พิการในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งนั้น กรรมาธิการฯ เห็นควรให้ยืนตามร่างเดิมของ สนช.ที่ให้สามารถช่วยเหลือผู้พิการลงคะแนนได้ตามสมควร ส่วนประเด็นที่ กกต.มีความเห็นแย้งให้มีบัตรเลือกตั้งใบเดียวและหมายเลขเดียวกันทั้งประเทศนั้น กรรมาธิการฯ มีมติให้ยืนตามร่างเดิมของ กรธ.ซึ่งให้แต่ละเขตมีหมายเลขที่แตกต่างกัน เพื่อให้ประชาชนจดจำผู้สมัครในเขตของตัวเองได้
นายสมชาย ยังกล่าวถึงกรณีอำนาจศาลในการสั่งให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปอย่างสุจริตและเที่ยงธรรมในกรณีที่ไม่ปรากฏชัดว่าเป็นการกระทำของผู้ใดว่า ให้เป็นอำนาจศาลสั่งให้การเลือกตั้งนั้นเป็นโมฆะและให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้ ขณะที่กรณีหากให้ กกต.ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาในการสั่งเพิกถอนสิทธิรับสมัคร รวมถึงการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนั้น กรรมาธิการฯ ให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมคำว่าให้ กกต. ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา เพื่อเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น
นอกจากนี้ กรรมาธิการฯ ยังมีมติให้ยกเลิกการจัดมหรสพระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. รวมถึงการปรับร่นเวลาลงคะแนนเลือกตั้ง จากเดิม สนช.กำหนด 07.00-17.00 น. เป็นตั้งแต่เวลา 8.00-17.00 น.