"ธานี เทือกสุบรรณ"เตรียมส่งตัวแทนขอจดตั้งพรรคการเมืองเร็วๆ นี้/กกต.เผยยอดยื่นจดพรรคใหม่เพิ่มเป็น 45 พรรค

ข่าวการเมือง Tuesday March 6, 2018 17:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธานี เทือกสุบรรณ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะอดีตแกนนำกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) กล่าวว่า ในเร็วๆ นี้จะส่งตัวแทนของกลุ่มเดินทางไปยื่นคำขอจดทะเบียนพรรคการเมืองใหม่ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อย่างแน่นอน

ด้าน น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ยืนยันว่า อดีตสมาชิกพรรค ปชป.ที่เคยร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองกับ กปปส.ก่อนหน้านี้ได้ประกาศชัดเจนแล้วว่า ไม่ได้แยกตัวออกไปอยู่กับพรรคการเมืองอื่น แต่ยังคงอยู่กับพรรค ปชป.ตามเดิม ยกเว้นนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ประกาศยุติบทบาททางการเมือง

อย่างไรก็ตาม หลังจากวันที่ 1 เม.ย.61 ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่อนคลายให้พรรคการเมืองเดิมทำกิจกรรมทางการเมืองได้คงจะมีความชัดเจนยิ่งขึ้น

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อวานนี้ (5 มี.ค). ซึ่งเป็นวันที่ 2 ของการเปิดรับจดทะเบียน ได้มีพรรคการเมืองอีก 2 พรรค มาจดทะเบียนเพิ่ม คือ พรรคพลังปวงชนไทย พรรคพัฒนาประเทศไทย และ วันนี้ซึ่งเป็นวันที่ 3 ของการเปิดจดทะเบียน พรรคไทยธรรม ได้ส่งตัวแทน คือ นายอโณทัย ดวงดารา พร้อมผู้ร่วมก่อตั้งพรรค เข้ายื่นเป็นลำดับที่ 45

นายอโณทัย กล่าวว่า พรรคไทยธรรมในฐานะพรรคน้องใหม่ มีสมาชิกประกอบด้วยบุคคลหลากหลายวิชาชีพ ทั้งหมอ นักวิชาการ รวมถึงนายทหาร ซึ่งมั่นใจว่าจะได้ที่นั่ง ส.ส.ในรัฐสภาอย่างน้อย 3 คน จากฐานเสียงเครือข่ายที่เข้าร่วมสนับสนุน รวมถึงเสียงจากคนรุ่นใหม่

ทั้งนี้ กลุ่มมีเจตนาที่จะสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นนายกฯคนนอกด้วย เพราะที่ผ่านมาผลงานการบริหารประเทศของรัฐบาล คสช. อาทิ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โครงการไทยนิยมยั่งยืน เป็นโมเดลในการทำงานให้แก่คนรุ่นใหม่ รวมถึงการออกกฎระเบียบในการปฏิรูปบ้านเมืองให้เป็นระบบระเบียบ

สำหรับวันเลือกตั้งหากจะเกิดขึ้นในช่วงปี 62 เชื่อว่าจะไม่เป็นปัญหา แม้จะสวนทางกับความต้องการของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่ต้องการจัดเลือกตั้งปี 61 เพราะมองว่าการจัดการเลือกตั้งนั้นจะต้องให้สถานการณ์บ้านเมืองเรียบร้อยตามระบบครรลองประชาธิปไตยก่อน ทั้งการสรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดใหม่ และการดำเนินการระบบพรรคการเมืองใหม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ