"ไทยนิยมยั่งยืน"แก้ปัญหาความขัดแย้ง-ยากจน หรือหวังผลการเมือง?

ข่าวการเมือง Wednesday March 7, 2018 11:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เข้าสู่ขวบปีที่ 4 ในการบริหารประเทศของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและเป้าหมายสำคัญในการทำงาน คือ เร่งแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมีถึง 11.4 ล้านคน และหนึ่งในโครงการใหม่ล่าสุดรับปีจอ คือ โครงการไทยนิยมยั่งยืน ที่นายกรัฐมนตรีหวังเอาแนวทางประชารัฐลงไปขับเคลื่อนในท้องถิ่นระดับตำบลและหมู่บ้าน โดยมีกระทรวงมหาดไทย เป็นแม่งาน และให้หัวหน้าส่วนราชการระดับท้องถิ่นลงไปติดตามการพัฒนา แก้ไขปัญหาในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงในพื้นที่จังหวัด รวมทั้งติดตามการสร้างความตระหนักรู้ ถึงบทบาทหน้าที่ของประชาชนในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ความน่าสนใจของโครงการไทยนิยมยั่งยืน คือการลงพื้นที่ของนายกฯและรัฐมนตรี เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนโดยตรง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกครั้งนายกฯจะเน้นเรื่องของการ"เลือกนายกรัฐมนตรี"คนต่อไปไว้เสมอ ทำให้โครงการนี้กลับถูกมองเป็นการหวังผลทางการเมืองมากว่าลงไปแก้ปัญหาให้กับประชาชน

ในอดีตมักได้ยินว่า ส.ส.จะจัดสรรงบประมาณลงพื้นที่ตัวเองเพื่อรักษาฐานเสียง แต่ปัจจุบันเมื่อไม่มี ส.ส.ในพื้นที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการทำโครงการไทยนิยมที่ให้ผู้ว่าราชการ และผู้นำระดับท้องถิ่นไปรับฟังปัญหาของประชาชนโดยตรง ซึ่งเปรียบได้กับการทำหน้าที่แทนส.ส.ในพื้นที่ และระดับส่วนกลาง ซึ่งก็คือรัฐบาลก็จะหมุนเวียนลงแต่ละพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาเช่นเดียวกัน

หากย้อนกลับไปดูการลงพื้นที่ของนายกฯ จะมีการพูดถึงการเลือกตั้งกับประชาชนทุกครั้ง อย่างเช่น การลงพื้นที่เกาะช้าง จ.ตราด นายกฯได้กล่าวกับประชาชนไว้ว่า "รัฐบาลนี้พยายามทำทุกเรื่องแต่ไม่ใช่เป็นการนำเงินมาให้ ประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมการตามโครงการประชารัฐและโครงการไทยนิยมคือทุกคนต้องนิยมทำความดี เคารพกฎหมาย เลือกตั้งให้เกิดความเป็นธรรม ได้คนดีเข้ามาบริหารบ้านเมืองนั่นคือสิ่งที่เรียกว่าไทยนิยมของตนเอง"

หรือการลงพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อฟังความเห็นวางแนวทางแก้ไขปัญหาความยากจนลดความเหลื่อมล้ำตามแนวทางประชารัฐนั้น นายกฯ ก็พูดถึงเลือกตั้งว่า ถือเป็นการนำคณะรัฐมนตรีและข้าราชการมากที่สุดนับตั้งแต่มีการลงพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมุ่งหวัง เพื่อที่จะเข้ามาแก้ปัญหาความยากจน และ ยกระดับคุณภาพชีวิตในพื้นที่ของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น โดยที่ไม่ได้มุ่งหวังผลประโยชน์ หรือ คะแนนนิยมทางการเมือง แต่อยากให้การเลือกตั้งครั้งต่อไปเป็นแบบไทยนิยม เลือกคนให้ถูก ไม่ใช่เลือกเพราะใครบอกว่าจะให้ ทุกคนที่เข้ามาต้องทำตามยุทธศาสตร์ชาติ ทำทั่วถึงทุกพื้นที่ โดยไม่เลือกปฏิบัติ

หากเป็นไปตามโรดแมพ การเลือกตั้งอาจเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 62 ยังมีเวลาที่รัฐบาลได้ลงพื้นที่อย่างเต็มที่ ประกอบกับยังเป็นช่วงเวลาที่นักการเมืองยังไม่สามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้ จึงเป็นจังหวะที่รัฐบาลเดินหน้าทำงาน อาจมองได้ถึงความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน หรือจะมองในมุมหวังผลเรียกคะแนนนิยมรัฐบาลกลับคืนมาหลังจากที่โดนวิพากษ์วิจารณ์โดยเฉพาะประเด็นนาฬิกาหรูของพ ล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หรือจะมองไปถึงการหวังผลทางการเมืองก็เป็นเรื่องที่น่าติดตาม

ด้านแม่งานใหญ่ของโครงการนี้ อย่างพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ที่กำกับดูแลข้าราชการทั่วประเทศ มอบนโยบายให้ส่วนราชการระดับพื้นที่ลงไปทำงานเริ่มจากปรับทุกข์ผูกมิตร อธิบายโครงการด้วยคำพูดง่ายๆ ซึ่งงานที่ทำถือเป็นเข้าไปให้บริการและความรู้ประชาชน แต่ก็ไม่พ้นที่จะต้องลงไปทำความเข้าใจในเรื่องการเลือกตั้งที่ต้องทำให้ประชาชนรู้ว่า ต้องเลือกคนเก่งคนดี ก็จะได้รัฐบาลที่ดีที่ทำเพื่อประเทศชาติให้ดีไปด้วย ซึ่งเคยกล่าวไว้ว่า "ใครจะมองว่าหาเสียงหรือไม่ เป็นสิ่งที่เขาคิดกันเอง ท่านจะเรียกหาเสียงหรือไม่ ผมคงไม่ตอบว่าใช่หรือไม่ เราไม่ได้ไปบอกว่าให้ชอบใคร รักใคร แต่เข้าไปให้บริการ และให้ความรู้ประชาชน"

ซึ่งหลังจากนี้ทุกๆเดือน ประชาชนในต่างจังหวัดจะได้มีโอกาสพบเจอนายกฯมากขึ้น เพราะการลงพื้นที่ของนายกฯและรัฐมนตรีจะถี่ขึ้น หากเปรียบกับรัฐบาลปกติ เสมือนเป็นการลงพื้นที่เพื่อขอคะแนนเสียงก่อนการเลือกตั้งหวังจะได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง

แต่ที่น่าสนใจมากกว่านั้น หากปล่อยให้นักการเมืองสามารถทำกิจกรรมได้แล้ว การที่จะข้าราชการท้องถิ่น ให้คำแนะนำถึงการเลือกคนดี คนเก่ง เข้ามาประเทศ เมื่อมีตัวเลือกชัดเจนอย่างว่าที่ ส.ส. จากพรรคต่างๆเสนอตัวทำงาน แล้วประชาชนจะเลือกฟังข้าราชการหรือนักการเมืองที่เตรียมลงสู่สนามเลือกตั้งมากกว่ากัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ