นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า ในวันนี้ กรธ.จะหารือและทำความเห็นเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่างพ.ร.บ.การได้มาซึ่ง ส.ว. ตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ปรับแก้เพื่อส่งให้ประธาน สนช.เพื่อพิจารณาภายในวันพรุ่งนี้ เนื่องจากเห็นว่ายังมีหลายประเด็นที่อาจเข้าข่ายขัดกับรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงอยากให้ สนช.ส่งตีความร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเพื่อให้เกิดความชัดเจน
เนื่องจากมองว่าหากมีการประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้วมีคนร้องและศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่ชอบรัฐธรรมนูญจะเกิดปัญหาตามมามากมาย โดยเฉพาะหากมีการเลือกตั้งไปแล้วจะทำให้ล้มทั้งกระบวนการต้องนับหนึ่งใหม่ จะทำให้กระบวนการต่างๆ ช้าและหยุดชะงักลง แต่หากวินิจฉัยตอนนี้ก็ยังสามารถอยู่ในกรอบโรดแมพเลือกตั้ง
ทั้งนี้ นายมีชัย เห็นว่า ร่างกฎหมายลูก ส.ส.อาจมี 2 ประเด็นที่เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ คือ เรื่องการตัดสิทธิผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ห้ามดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ผู้บริหารท้องถิ่น กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเกิดข้อสงสัยว่าเป็นการตัดสิทธิหรือตัดเสรีภาพ ซึ่งหากเป็นเรื่องเสรีภาพก็ไม่น่าจะทำได้
และประเด็นที่ให้ผู้อื่นลงคะแนนเสียงแทนผู้พิการได้ ซึ่งเดิมก รธ.กังวลเรื่องนี้ จึงเขียนว่าให้เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือเพื่อให้ผู้พิการลงคะแนนด้วยตนเอง แต่ สนช.ปรับแก้ไขใหม่กำหนดให้เจ้าหน้าที่ลงคะแนนแทนได้ และถือว่าเป็นการลงคะแนนโดยตรงและลับ ซึ่งการเขียนไว้เช่นนี้จะขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ต้องเขียนให้ชัด เพราะความจริงผู้ที่จะลงคะแนนต้องอยู่ในภาวะที่ลงคะแนนได้ หากขัดข้องก็ให้เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือได้
ขณะที่ร่างกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ว.นั้น มีความกังวลเรื่องการแบ่งประเภทการสมัครและการเลือกที่แยกเป็น 2 ประเภท คือ อิสระ และโดยองค์กร ซึ่งจะเป็นการแยกแต่ละกลุ่มออกเป็น 2 พวก ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้ในแต่ละกลุ่มเลือกกันเอง การแยกแบบนี้จึงไม่ใช่การเลือกกันเอง อาจจะขัดกับรัฐธรรมนูญ เพราะเท่ากับว่าให้องค์กรเลือกก่อนแล้วจึงจะเลือกกันเอง
และยังมีความกังวลในทางปฏิบัติในกรณีที่บางองค์กรมีทุกจังหวัดซึ่งจะสามารถส่งตัวแทนเข้ามาได้ ก็จะทำให้มีตัวแทนแต่ละองค์กรเข้ามาเป็นจำนวนมาก และอาจทำให้เกิดการทุจริตได้ง่าย
ดังนั้น นายมีชัย เห็นว่า ควรให้ศาลชี้ให้ชัดก่อนจะเดินหน้า เพราะหากประกาศใช้เป็นกฎหมายครบแล้ว กรธ.ก็ต้องพ้นจากหน้าที่ และเมื่อถึงวันนั้นก็ต้องหาคนมายกร่างใหม่ และต้องใช้เวลาในการปรับแก้เนื่องจากแต่ละมาตราผูกโยงกัน
ส่วนกรณีที่มีผู้จดทะเบียนตั้งพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งชื่อสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลว่า ไม่มีข้อห้ามในเรื่องนี้ แต่ขอไม่ออกความเห็นในกรณีการตั้งนายกรัฐมนตรีเป็นที่ปรึกษาพรรคดังกล่าว