นายอาบูล ฮัสซัน มามูด อาลี (Mr. Abul Hassan Mahmood Ali) รมว.ต่างประเทศ สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ พร้อมด้วย นาย Nasrul Hamid รมช.ไฟฟ้า พลังงาน และทรัพยากรธรณี ได้เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ในโอกาสที่ รมว.ต่างประเทศ สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ ได้รับเชิญเป็นประธานในพิธีการแต่งตั้งตำแหน่งศาสตราภิชาน (Bangabandhu Chair Professor) ประจำสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาพลังงานโดยเฉพาะพลังงานทดแทนและพลังงานยั่งยืน
โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวแสดงความยินดีที่ รมว.ต่างประเทศ สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ เดินทางมาเยือนไทยในครั้งนี้เพื่อเป็นประธานในพิธีแต่งตั้งศาสตราภิชานประจำสถาบัน AIT เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาพลังงาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทนำในด้านการส่งเสริมการวิจัยในสาขาพลังงาน และขอชื่นชมที่ไทยและบังกลาเทศบรรลุความสำเร็จในการลงนามความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราผู้ถือหนังสือเดินทางทูต
ขณะที่ รมว.ต่างประเทศ สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ ได้กล่าวชื่นชมพัฒนาของไทยว่า จากการได้มีโอกาสเดินทางมาเยือนไทยหลายครั้ง เห็นชัดถึงการเปลี่ยนแปลงที่ดีของประเทศไทยในหลายด้าน โดยเฉพาะความมีเสถียรภาพและความมั่นคงทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมของไทยภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี
ทั้งสองฝ่ายยังได้มีการหารือถึงความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวสนับสนุนการกำหนดเป้าหมายมูลค่าทางการค้า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2564 รวมทั้งความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-บังกลาเทศ นอกจากจะเป็นเครื่องมือส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการค้าดังกล่าว ยังจะมีช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างภาคเอกชนให้ใกล้ชิด ซึ่งเอกชนไทยเองตระหนักถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจของบังกลาเทศทั้งในฐานะตลาดใหญ่ในเอเชียใต้ที่มีจำนวนประชากรกว่า 160 ล้านคน มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และมีหลายสาขาที่มีศักยภาพ อาทิ สาขา สิ่งทอ เกษตรแปรรูป ก่อสร้าง ท่องเที่ยว และพลังงานทดแทน ซึ่ง รมว.ต่างประเทศ สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ ได้เชิญชวนนักธุรกิจไทยไปลงทุนในด้านพลังงาน อุตสาหกรรมประมงน้ำลึก ซึ่งสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศเห็นว่าไทยมีศักยภาพและต้องการเรียนรู้ประสบการณ์จากไทยด้วย
นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 และยุทธศาสตร์ Thailand +1 พร้อมชื่นชมนโยบายของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศที่ต้องการยกระดับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในประเทศ โดยเฉพาะโครงการ Digital Park ซึ่งทั้งสองฝ่ายสามารถพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันได้
สำหรับความเชื่อมโยงในภูมิภาค นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงสถานที่ตั้งของไทยที่อยู่ศูนย์กลางภูมิภาคอาเซียน และสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลางของอ่าวเบงกอล ทั้งสองฝ่ายมีบทบาท และสามารถใช้ประโยชน์จากความร่วมมือในกรอบต่าง ๆ ที่ทั้งสองชาติเป็นสมาชิก โดยเฉพาะ ACD และ BIMSTEC ในการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคเอเชียใต้กับอาเซียน ไทยและบังกลาเทศเห็นพ้องถึงความสำคัญกับการจัดทำแผนแม่บทด้านความเชื่อมโยงภายใต้กรอบ BIMSTEC ในฐานะกรอบความร่วมมือหลักในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างเอเชียใต้กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นายกรัฐมนตรีได้กล่าวแสดงยินดีที่สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศจะรับตำแหน่งประธานองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ในช่วงกลางปี 2561 ซึ่งไทยได้รับการสนับสนุนด้วยดีจากสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศมาโดยตลอด โดยเฉพาะในประเด็นจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) ทั้งนี้คณะผู้แทนถาวรประจำ OIC ได้เยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม 2561 ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยคณะผู้แทนถาวรประจำ OIC ได้เห็นสภาพความเป็นจริงในพื้นที่และเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์และนโยบายของรัฐบาลไทยที่เน้น "การพัฒนา" มากกว่าการปราบปราบ ซึ่งได้รับการยอมรับจากคณะผู้แทนถาวรประจำ OIC ให้เป็นอีกหนึ่งต้นแบบของการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วย สำหรับแนวทางการ ผู้พลัดถิ่นชาวโรฮีนจา ที่ผ่านมาไทยให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้พลัดถิ่นชาวโรฮีนจามาโดยตลอด โดยเห็นว่าจะต้องมีความร่วมมือจากทุกฝ่าย ซึ่งไทยได้มอบเงินช่วยเหลือแก่บังกลาเทศและเมียนมา และพร้อมที่จะให้การสนับสนุนในด้านอื่น ๆ ต่อไป
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การพูดคุยในวันนี้นำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมเพื่อยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ เพื่อมุ่งไปสู่การยกระดับไปสู่เป็นประเทศที่มีรายได้สูงขึ้นตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลทั้งสองประเทศ