นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยว่า ได้รับรายชื่อสมาชิก สนช. จำนวน 30 รายชื่อจากนายกิตติ วสีนนท์ สมาชิก สนช. ที่ได้รวบรวมเพื่อขอให้ประธาน สนช. ส่งร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา (ส.ว.) ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความในบทเฉพาะกาลแล้ว โดยคาดว่าจะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ภายในวันที่ 19 มี.ค.นี้
อย่างไรก็ดี เชื่อมั่นว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. ได้ภายเวลาไม่เกิน 1 เดือน ซึ่งยังอยู่ในช่วงเวลา 90 วัน เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้ทักท้วง เพราะถือเป็นเรื่องใหญ่เพราะหากมีใครไปยื่นให้ศาลตีความหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้จะทำให้กฎหมายล้มทั้งยืนได้ เนื่องจากเกี่ยวพันกับกระบวนการได้มาซึ่งส.ว.ชุดใหม่
ส่วนร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.นั้น นายพรเพชร กล่าวว่า จะส่งร่างไปให้นายกรัฐมนตรีอย่างช้าภายในวันที่ 19 มี.ค.นี้เช่นเดียวกัน โดยที่สมาชิก สนช.ทั้งหมดยืนยันว่า ประเด็นที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ท้วงติง ทั้งกรณีตัดสิทธิเป็นข้าราชการการเมืองหากไม่ไปเลือกตั้ง กับให้มีผู้ช่วยเหลือผู้พิการขณะเข้าหูหาเลือกตั้งนั้น ไม่มีเนื้อหาส่วนใดที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ
นอกจากนั้นประเด็นที่ กรธ.แย้งมานั้นก็เป็นประเด็นเฉพาะกลุ่มไม่มีผลทำให้กฎหมายต้องตกไปทั้งฉบับ และหากเห็นว่า กระทบสิทธิบุคคลนั้นก็สามารถไปยื่นได้หลังจากกฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว โดยเฉพาะคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) บางคนที่อยากให้ สนช.ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในตอนนี้ เพราะกลัวว่าประเด็นเรื่องคนพิการจะทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะนั้นก็สามารถยื่นได้ทันทีหลังกฎหมายประกาศใช้ เพราะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง และจะไม่ทบต่อกระบวนการการเลือกตั้ง เพราะยังอยู่ในช่วง 90 วันก่อนนับหนึ่ง 150 วันกระบวนการเลือกตั้ง
นายพรเพชร ยืนยันว่า ร่างกฎหมายลูก ส.ส.นั้น สนช.จะไม่ยื่นตีความ เพราะหากยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญจะกระทบต่อโรดแมพเลือกตั้งแน่นอน เพราะไม่มีเวลา 90 วันมารองรับเหมือนร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. และแทนที่ร่างกฎหมาย ส.ส.จะถึงมือนายกรัฐมนตรีตามกระบวนการ แต่ต้องเลื่อนกำหนดออกไปเพราะต้องยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และรอจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยออกมา