นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยว่า ได้ลงนามส่งร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว เมื่อเวลา 09.00 น.ที่ผ่านมา โดยมีสมาชิก สนช.ร่วมลงชื่อส่งเรื่องให้วินิจฉัยทั้งหมด 30 คน
โดยตั้งข้อสังเกตร่างพ.ร.บ.การได้มาซึ่งส.ว.ว่า การยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญไม่น่าจะมีผลกระทบต่อโรดแมพการเลือกตั้ง เนื่องจากมีการเลื่อนวันบังคับใช้ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ออกไป 90 วัน ระยะเวลาดังกล่าวน่าจะเพียงพอสำหรับกระบวนการทั้งหมด
นายพรเพชร กล่าวว่า ส่วนร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.ที่ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ตั้งข้อสังเกตความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ กรณีการตัดสิทธิผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะไม่ได้รับการแต่งตั้งเป็นข้าราชการการเมือง และการให้คนพิการที่ไม่สามารถลงคะแนนเสียงด้วยตัวเอง ให้มีบุคคลช่วยเหลือในการลงคะแนนในคูหาเลือกตั้งได้นั้น เห็นว่า ในประเด็นผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะไม่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง เป็นหลักการที่ถูกต้องแล้ว ในการส่งเสริมให้บุคคลตระหนักถึงหน้าที่ไปลงคะแนนเลือกตั้ง ตำแหน่งข้าราชการการเมืองมีจำนวนน้อยจึงกระทบบุคคลในวงแคบมาก ดังนั้นการจำกัดสิทธิเสรีภาพย่อมทำได้ด้วยบทบัญญัติกฎหมาย เมื่อมีเหตุผลที่สมควรไม่น่ามีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
ส่วนประเด็นการให้คนพิการมีบุคคลช่วยเหลือในการลงคะแนนเสียงในคูหาเลือกตั้งนั้น เห็นว่า การลงคะแนนเลือกตั้งของคนพิการควรมีการช่วยเหลือให้การใช้สิทธิมีความสมบูรณ์ถูกต้อง คำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญที่ กรธ.อ้างมานั้น ไม่อาจนำมาปรับใช้ได้กับการช่วยเหลือคนพิการตามร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส.เนื่องจากการช่วยเหลือคนพิการมีคนรู้การลงคะแนนเพิ่มอีกคนเดียว ไม่ใช่การเปิดเผยต่อสาธารณชน การใช้สิทธิเช่นนี้ของคนพิการมีจำนวนน้อยมากในแต่ละคูหา ไม่อาจกล่าวได้ว่าจะทำให้การเลือกตั้งของคนพิการที่มีผู้ช่วยเหลือเป็นกรณีเดียวกับข้อเท็จจริงในคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญที่นำมาเปรียบเทียบ ในทางตรงข้ามเป็นการรับรองสิทธิคนพิการทางการเมือง สอดคล้องวิธีปฏิบัติที่เป็นสากล
นอกจากนี้หากมีการยื่นร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.ต่อศาลรัฐธรรมนูญ อาจจะส่งผลให้การประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวช้าไปกว่าเดิมประมาณ 2 เดือน แม้เป็นระยะเวลาไม่นานนัก แต่เมื่อสมาชิก สนช.มีความเชื่อมั่นว่าข้อความในร่างพ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.ทั้ง 2 ประเด็นดังกล่าวไม่มีปัญหาเรื่องความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงไม่มีการเข้าชื่อเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ดังนั้นประธาน สนช.จึงส่งร่าง พ.ร.ป.ฉบับนี้ไปให้นายกรัฐมนตรีในวันนี้เช่นกัน เพื่อดำเนินการต่อไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ
ส่วนข้อห่วงใยเกี่ยวกับผลกระทบจากการไม่ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.ที่เกรงว่า หากมีผู้ไปยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในภายหลังอาจมีผลกระทบต่อโรดแมพนั้น ในกรณีการตัดสิทธิการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งนั้น หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจว่าเป็นโมฆะ จะมีผลคือ ผู้ถูกตัดสิทธิจะได้รับสิทธินั้นคืน โดยไม่ต้องแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.จึงไม่กระทบโรดแมพ
ส่วนกรณีที่มี สนช.บางคนเสนอให้พรรคการเมืองทำสัตยาบันยินยอมเลื่อนโรดแมพเลือกตั้งไป 3 เดือน แลกกับการยื่นร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. นั้น ตนเองไม่มีความเห็น เป็นเรื่องไม่สมควรพูด