นายอาณัติ ลีมัคเดช อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอแนะให้นำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการเลือกตั้ง เนื่องจากประเมินว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าอาจมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 5,800 ล้านบาท นอกจากนี้ยังไม่สามารถประกันได้ว่าจะไม่มีการสวมสิทธิหรือการทุจริต
โดยแนวคิดระบบเลือกตั้งแบบอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบันแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ แบบรวมศูนย์ (Centralized) เช่น ระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดี การเลือกตั้งระบบนี้ยังจำเป็นต้องจัดให้มีหน่วยเลือกตั้งอยู่ซึ่งยังไม่ได้แก้ไขปัญหางบประมาณ และยังมีข้อเสียอีกคือหากมีการ hack ระบบได้ อาจเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งได้ เช่นการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่ผ่านมายังมีการสอบสวนว่ารัสเซีย hack ระบบเพื่อเอื้อผู้สมัครบางคนหรือไม่ นอกจากนี้หลังการเลือกตั้ง Def Con ซึ่งเป็นงานประชุมด้านระบบความปลอดภัยคอมพิวเตอร์ได้ทดสอบให้มีการแข่งขัน hack ระบบเลือกตั้งประธานาธิบดี ปรากฎว่าสามารถ hack ระบบได้ภายใน 90 นาที
แบบกระจายศูนย์ (Decentralized) ระบบนี้ถูกพัฒนาบนเครือข่าย Blockchain สาธารณะชื่อ Ethereum ตัวบล็อกเชนท์เองเป็นเทคโนโลยีในการจัดเก็บข้อมูแบบกระจาย (Decentralized) โดยมีเครื่องคอมพิวเตอร์หลายเครื่องเข้ามาเก็บและตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล การยอมรับในข้อมูลเพื่อผนวกเข้ามาเป็นชุดข้อมูลใหม่ (Block) จะใช้วิธีการยอมรับเกินครึ่งหนึ่งของเครื่องคอมพิวเตอร์ในระบบ จุดแข็งของบล็อกเชนท์ คือ เมื่อข้อมูลถูกยอมรับบนระบบแล้วไม่สามารถแก้ไขได้ สอง มีกลไกในการตรวจสอบเพื่อสร้างชุดข้อมูลใหม่ทำให้ยากในการสร้างข้อมูลเท็จ โดยเฉพาะบล็อกเชนท์สาธารณะเช่น Ethereum มีเครื่องคอมพิวเตอร์เข้าร่วมเก็บข้อมูลเกือบ 1 ล้านเครื่อง ทำให้ข้อมูลมีความมั่นคง
ระบบ Blockchain สามารถนำไปประยุกต์ในหลายด้าน ส่วนใหญ่เป็นการทดแทนคนกลาง เช่น การโอนเงินระหว่างกัน การสร้างบัญชีทรัพย์สิน เช่น ทะเบียนที่ดิน การเก็บข้อมูลคนไข้ ตลอดจนการเลือกตั้ง ระบบเลือกตั้งบน Blockchain สามารถแก้ไขปัญหาการเลือกตั้งแบบดั้งเดิมและระบบการเลือกตั้งอิเล็กทรอนิกส์แบบรวมศูนย์ โดยมีข้อดีในการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน โดยประเมินว่าค่าใช้จ่ายต่อหัวของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งอยู่ที่15 บาท , สะดวกและปลอดภัย โดยผู้เลือกตั้งสามารถใช้โทรศัพท์มือถือหรือเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตลงคะแนนได้ , โปร่งใส โดยผู้เลือกตั้งสามารถตรวจสอบการใช้สิทธิของตนเองบนฐานข้อมูล Blockchain ได้ โดยยังคงความเป็นส่วนตัวเนื่องจากการระบุตัวตนจะผ่านหมายเลขของผู้เลือกตั้งซึ่งเป็นความลับ และความปลอดภัย ระบบฐานข้อมูลแบบ Blockchain สาธารณะมีเครื่องคอมพิวเตอร์ในเครือข่ายเกือบ 1 ล้านเครื่อง จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะ hack ระบบ หรือแม้แต่ "คน" ที่เป็นผู้ดูแลระบบก็ไม่สามารถทุจริตได้ เพราะสามารถตรวจสอบความถูกต้องของฐานข้อมูลและโปรแกรมการลงคะแนนที่เรียกว่า Smart Contract ซึ่งทั้งสองอย่างถูกเก็บอยู่บน
"ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 และกฎหมายในปัจจุบันหลายฉบับเอื้อให้มีการเลือกตั้ง แต่ยังไม่มีการพูดถึงระบบการเลือกตั้งที่โปร่งใส มั่นคง และมีค่าใช้จ่ายต่ำ ทำให้ยังเป็นปัญหาในการปฏิบัติตามกฎหมายอยู่ เช่นการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมจากผู้ประกันตน 14 ล้านคน ประเมินว่ามีค่าใช้จ่าย 3,000 ล้านบาท และยังเป็นปัญหาที่ทำให้ยังไม่สามารถเลือกตั้งตามกฎหมายได้ หรือการเลือกตั้งตัวแทนผู้สมัครฯ ของพรรคการเมืองที่กำหนดให้สมาชิกพรรคแต่ละพื้นที่ต้องมีการเลือกตั้งที่เรียกว่า Primary Vote การใช้ระบบเลือกตั้งแบบกระจายบน Blockchain จึงสามารถเป็นตัวเลือกหนึ่งในการตอบโจทย์เหล่านี้ นอกจากนี้ประเด็นสำคัญของการเลือกตั้งคือการสร้างความสะดวกให้แก่ประชาชนจะทำให้สัดส่วนผู้มาใช้สิทธิมากขึ้นซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาการเมืองระยะยาวของประเทศที่จะพัฒนาไปสู่การเมือง 4.0 ยุค"ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม"นายอาณัติ กล่าว