นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชี้แจงแนวทางการดำเนินกิจการแก่พรรคการเมืองที่จัดตั้งเป็นพรรคการเมืองตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 จำนวน 55 พรรคการเมือง โดยมีแกนนำพรรคการเมืองเก่าเข้าร่วม ได้แก่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย, นายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย, นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา เป็นต้น
นายศุภชัย กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการจัดประชุมครั้งนี้เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจแก่พรรคการเมืองและเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งอยากให้ทุกพรรคศึกษากฎหมายต่างๆ ทื่เกี่ยวข้องให้เกิดความเข้าใจและดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายให้ถูกต้องตามระยะเวลากำหนด ตามมาตรา 141 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 53/2560 ลงวันที่ 20 ธ.ค.2560
ทั้งนี้ หากพรรคการเมืองมีปัญหาข้อขัดข้องก็ให้เสนอมาเพื่อที่ กกต.จะดำเนินการแก้ไข แต่หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ คสช.นั้น กกต.ก็จะนำเรื่องไปหารือกับ คสช.ต่อไป
"วันนี้จึงอยากให้พรรคการเมืองช่วยกันเสนอแนะปัญหาในการปฏิบัติมา เพื่อให้มีการนำไปแก้ไข และจะได้ไม่เป็นปัญหาในการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองในอนาคต ซึ่ง พ.ร.บ.พรรคการเมืองฉบับใหม่มีกระบวนการและขั้นตอนที่เปลี่ยนไปจากกฎหมายเดิมมาก เช่น ทุนประเดิมพรรค ไพรมารีโหวต จึงอยากให้ศึกษาทำความเข้าใจกฎหมายอย่างละเอียด เพื่อดำเนินการอย่างถูกต้องและเป็นไปตามกฎหมายกำหนด"
ประธาน กกต.กล่าวว่า หลังจากรับฟังข้อเสนอแนะจากพรรคการเมืองแล้ว กกต.จะส่งข้อเสนอต่อ คสช.ในหลายประเด็น เพื่อแก้ไขคำสั่งที่ 53/2560 ตั้งแต่มาตรา 140, 141, 145 และ 146 เช่น การยืนยันความเป็นสมาชิกพรรคการเมือง การชำระเงินค่าบำรุงพรรคการเมือง การจัดประชุม ความเท่าเทียมของพรรคการเมือง การขัดกันของคำสั่งที่อาจเกิดปัญหาในทางปฏิบัติ ซึ่งถือว่ามีสัญญาณบวกที่ คสช.จะแก้ไขคำสั่งที่ 53/2560 ส่วนจะต้องแก้ไขก่อนวันที่ 1 เม.ย.นี้หรือไม่นั้นอยู่ที่ คสช.จะพิจารณา
อย่างไรก็ตาม ประธาน กกต.กล่าวว่า กรณีมีคำสั่งตามมาตรา 44 ปลดนายสมชัย ศรีสุทธิยากร ออกจากตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้งนั้น ไม่ได้กังวลเกี่ยวกับการทำหน้าที่ เพราะ กกต.มีหน้าที่ดูแลเรื่องการเลือกตั้งให้มีความโปร่งใสตามหน้าที่อยู่แล้ว แม้ว่า กกต. จะหายไป 1 คน แต่ไม่มีปัญหาเรื่องการทำงาน เพราะ กกต.มีหน้าที่ดูแลในระดับนโยบายเท่านั้น
และหากมีการส่งร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จะส่งผลให้โรดแมปการเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ต้องเลื่อนออกไปหรือไม่นั้น นายศุภชัย กล่าวว่า ยังไม่สามารถให้ความเห็นได้ เพราะยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ และขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญจะใช้ในการพิจารณาวินิจฉัย
ประธาน กกต.กล่าวว่า การให้ตัวแทนหรือกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ลงคะแนนแทนผู้พิการ ไม่ได้เป็นสิ่งที่ กกต.เสนอ เพียงแต่มีความเห็นไปว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นอำนวยความสะดวกให้กับบุคคลที่มีข้อจำกัดทางร่างกาย เนื่องจากประชาชนทุกคนมีหน้าที่ที่ต้องไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ไม่เช่นนั้นจะทำให้คนกลุ่มนี้เสียสิทธิ์และเชื่อว่าจะไม่ทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ
ขณะที่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา รักษาการเลขาธิการ กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ได้บรรยายเรื่อง "บทบาทนายทะเบียนพรรคการเมืองกับการดำเนินกิจการของพรรคการเมือง" โดยกล่าวว่า สิ่งที่เปลี่ยนแปลงก่อนที่จะเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งมีหลายเรื่อง อาทิ การปฏิรูประบบพรรคการเมืองที่เปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมทั้งเรื่องนโยบายและการส่งผู้สมัคร โดยมีการกำหนดคุณสมบัติสมาชิกพรรคที่สูงเกือบเท่าคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส่วนการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้นต้องดูกฎหมายให้ดี เพราะพรรคการเมืองจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายเอง ไม่ใช่หน้าที่สำนักงาน กกต.จะเข้าไปดู
ส่วนการปฏิรูปการจัดการเลือกตั้งในเรื่องการปิดแผ่นป้ายหาเสียงจะต้องติดตามบอร์ดที่ กกต.จัดไว้ให้ และจะต้องมีขนาดตามที่ กกต.กำหนด เพื่อให้เกิดความเสมอภาคและความเท่าเทียมกัน ส่วนการหาเสียงผ่านอิเล็คทรอนิกส์ หากเป็นการหาเสียงที่ผิดกฎหมาย หรือใส่ร้ายบุคคล ตามกฎหมายกำหนดให้ กกต.สามารถลบข้อความดังกล่าวออกจากระบบโซเชียลมีเดียด้วย ทั้งนี้ขั้นตอนปฏิบัติ กกต.จะร่างระเบียบอีกครั้ง ขณะที่การทุจริตเลือกตั้งหรือซื้อเสียง กฎหมายมีความเข้มงวดมากขึ้น และกฎหมายให้สิทธิ์ กกต.ออกใบเตือน หรือ ใบส้มได้
ด้านนายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต.ชี้แจงเกี่ยวกับคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 ว่า มีหลายประเด็นที่มีปัญหาในทางปฏิบัติ ซึ่ง กกต.ได้มีหนังสือไปยัง คสช.เพื่อให้พิจารณาแก้ไขแล้ว โดยเฉพาะประเด็นความเท่าเทียมระหว่างพรรคการเมืองเก่ากับพรรคการเมืองใหม่ เช่น กรณีที่คำสั่งไม่ได้รับรองสาขาพรรคการเมืองตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองปี 2550 ทำให้ไม่มีองค์ประชุมจากส่วนที่เป็นสาขาพรรคในการประชุมใหญ่ หรือประเด็นเรื่องพรรคการเมืองเก่าต้องมี 4 สาขาทั่วประเทศ ขณะที่พรรคการเมืองใหม่มีเพียงสาขาเดียวก็สามารถส่งผู้สมัครได้ เป็นต้น
หลังจากนั้นได้เปิดโอกาสให้ตัวแทนพรรคการเมืองสอบถามในประเด็นที่ยังมีข้อสงสัย โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า กกต.เป็นผู้รักษากฎหมายและแนวทางปฏิรูปการเมืองมีเป้าหมายให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการสร้างพรรค กกต.จึงควรอำนวยความสะดวกให้พรรคการเมืองสามารถคงสมาชิกไว้ให้ได้มากที่สุด แต่สิ่งที่ กกต.กำลังทำ กลับกลายเป็นการทำลายฐานสมาชิกของพรรคการเมือง และคำชี้แจงของ กกต.ไม่ตรงกับสิ่งที่กฎหมายเขียนไว้ เช่น กฎหมายพรรคการเมืองให้เวลาในการจ่ายค่าบำรุงพรรค 4 ปี แต่เมื่อมีการตีความคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 ว่าสมาชิกที่ยืนยันการเป็นสมาชิกพรรค ถ้าไม่จ่ายค่าบำรุงพรรคภายใน 30 วัน จะพ้นจากความเป็นสมาชิก ขณะที่มาตรา 141 ระบุว่าให้ยืนยันความเป็นสมาชิกพรรคตามจำนวนให้ครบภายใน 4 ปี และเมื่อพ้นระยะดังกล่าวให้ถือว่าสิ้นสมาชิกภาพ ซึ่งอาจเกิดปัญหาว่าบุคคลที่เป็นสมาชิกพรรคอยู่เดิมและไม่ชำระค่าบำรุงเกินระยะ 4 ปีอาจต้องสิ้นสภาหรือไม่, การชำระค่าบำรุงพรรคและการแสดงหลักฐานการชำระเงิน ที่ผ่อนผันให้ใช้ระบบอิเล็คทรอนิกส์แทนลงลายมือชื่อในเอกสารได้หรือไม่ โดยนายแสวงชี้แจงว่า ในส่วนการยืนยันการเป็นสมาชิกพรรคต้องจ่ายเงินบำรุงพรรค 100 บาทต่อปี ภายในวันที่ 30 เมษายนด้วย ไม่เช่นนั้นจะต้องพ้นสภาพการเป็นสมาชิกพรรค
นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงปัญหาจากกฎหมายพรรคการเมืองที่ทำให้ยากต่อการปฏิบัติคือ กรณีให้หัวหน้าพรรครับรองว่า สมาชิกมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ซึ่งหัวหน้าพรรคไม่มีทางรับรองได้ทั้งหมด จึงอยากให้แก้ไข เพราะสามารถรับรองได้แค่เพียงว่าสมาชิกพรรครับรองคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของตัวเองมาแล้วเท่านั้น
รายงานข่าว แจ้งว่า ในการประชุมดังกล่าว ตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆ ได้สอบถามในหลายประเด็น เช่น สอบถามถึงความชัดเจนต่อการกำหนดวันเลือกตั้งและออกพระราชกฤษฎีกาประกาศกำหนดวันเลือกตั้งเมื่อใด ซึ่งนายแสวง ระบุว่า ไม่จำเป็นต้องตอบ เพราะทุกพรรคขณะนี้รู้กันอยู่แล้ว
ด้านนายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ อดีต ส.ส.สุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา เรียกร้องให้ กกต.ใช้ความกล้าหาญต่อการกำหนดหลักเกณฑ์ปฏิบัติของพรรคการเมือง แม้จะขัดกับคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง เพราะขั้นตอนยืนยันสมาชิกพรรคควรให้โอกาสได้พบปะ หรือพูดคุยในแนวทางของพรรคด้วย รวมถึงขอให้ กกต.เสนอ คสช. ให้ยกเลิกคำสั่งที่เป็นอุปสรรคต่อการทำกิจกรรมทางการเมืองด้วย ซึ่งนายแสวง กล่าวแบบติดตลกว่า "เรารับไว้ แต่ทำไม่ได้ เพราะคนที่เสนอให้ทำนั้นก็ถูกทำให้พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว"