นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการยืนยันสมาชิกพรรคการเมืองในเดือน เม.ย.ว่า ขณะนี้กฎระเบียบต่างๆ ยังไม่ชัดเจนส่งผลให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ หัวใจสำคัญคือคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ที่ 53/2560 ต้องให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้ เพราะสิ่งที่จะทำไม่ใช่การเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือการชุมนุม แต่ต้องทำให้ทุกอย่างเป็นไปข้อกำหนด
ทั้งนี้ ยอมรับว่า การยืนยันสมาชิกจะมีสมาชิกพรรคเพื่อไทยบางส่วนหายไป ซึ่งต่างจากพรรคประชาธิปัตย์ที่มีสมาชิกเป็นล้าน จะไปตามอย่างไรให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน และยังติดช่วงวันหยุดเทศกาลอีก 10 กว่าวัน จึงอยากให้ กตต.ช่วยพิจารณาด้วยว่าเวลาที่ให้ยืนยันสมาชิกกับจำนวนสมาชิกที่มีเพียงพอหรือไม่
นายภูมิธรรม กล่าวว่า ไม่ได้กังวลเรื่องสมาชิกพรรคจะหายไป แต่สิ่งที่กังวลคือ เมื่อไหร่จะมีประชาธิปไตยกลับคืนมาให้กับประชาชน ที่ผ่านมาในพรรคได้พูดคุยกันบ้างอย่างไม่เป็นทางการ ไม่มีข้อกังวลอะไร และยืนยันว่า เท่าที่ตนเองสัมผัสทุกคนยังรักใคร่กลมเกลียวกันอยู่ดี เพียงแต่ว่าในขณะนี้มีการปรับเปลี่ยนกฎกติกาใหม่ ทำให้ทุกคนจึงมีสิทธิที่จะคิด และตนเองก็เคารพในการตัดสินใจของทุกฝ่าย แต่โดยรวมแล้วไม่น่าจะมีปัญหาอะไร พรรคยังอบอุ่นและกลมกลืนกันดี
ส่วนกรณีที่กลุ่มวาดะห์เตรียมแยกตัวออกจากพรรคไปตั้งพรรคประชาชาตินั้น นายภูมิธรรม กล่าวว่า ยังไม่มีการยืนยันที่ชัดเจน ต้องรอดูไปจนถึงวันที่ 30 เม.ย. ถ้ายังไม่มายืนยันสมาชิกต้องมีการพูดจาหารือกัน อีกทั้งกระแสข่าวที่ผ่านมายังไม่สามารถยืนยันอะไรได้ ที่ผ่านมาถือว่ากลุ่มวาดะห์เป็นครอบครัวเดียวกัน ต้องรอดูว่าจะตัดสินใจ ซึ่งในช่วง 30 วันนี้ทุกคนมีสิทธิตัดสินใจอนาคตของตัวเอง ทุกคนมีสิทธิที่จะคิด ถ้ายืนยันครบถ้วนก็จะไม่มีปัญหา แต่หากจะตัดสินใจไปก็ต้องดูเหตุผล
ด้านนายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ยื่นร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จะแสดงให้เห็นความไม่ชอบมาพากล มีเบื้องหน้าเบื้องหลังของรัฐบาลและ สนช. เพราะมองว่าผู้ร่างเขียนกฎหมายคลุมเครือ ทำให้มีตำหนิ ทำให้สงสัยได้ว่ามีแผนอะไร ส่อเจตนาให้เกิดปัญหา ทำให้เกิดความไม่ราบรื่นหรือไม่ เพราะเชื่อว่า จะกระทบกับการเลือกตั้งตามโรดแมพอย่างแน่นอน และทำให้กฎหมายออกมาล่าช้า แทนที่จะได้นำกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ ท้ายที่สุดกลับต้องมารอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หากศาลวินิจฉัยว่าขัดกับรัฐธรรมนูญก็ต้องมาเริ่มนับหนึ่งกันใหม่ และต้องถามว่าประเด็นที่ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความนั้นเป็นสาระสำคัญถึงขั้นทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะหรือไม่ ซึ่งจากที่ตนเองศึกษารายละเอียดข้อกฎหมายเห็นว่าประเด็นที่สงสัยกันนั้นไม่ใช่สาระสำคัญถึงขึ้นทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ไม่จำเป็นต้องยื่นศาลเพื่อตีความ
ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงความชัดเจนในการยืนยันสมาชิกของพรรคการเมืองเดิมว่า ส่วนตัวมีความเป็นห่วงเช่นเดียวกับหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในเรื่องการชำระเงินว่า หากสมาชิกยังไม่ชำระเงินจะพ้นจากความเป็นสมาชิกหรือไม่ รวมถึงเป็นห่วงรูปแบบวิธีการชำระเงิน วิธีนำส่งหลักฐานการชำระเงินเพื่อยืนยันตัวตนว่าจะทำได้โดยวิธีใดบ้าง ซึ่งจนถึงขณะนี้ทางพรรคเหลือเวลาทำการที่จะให้สมาชิกได้ยืนยันตัวตนอีกเพียงไม่ถึง 20 วัน หากไม่นับรวมวันหยุด โดยพรรคชาติไทยพัฒนาจะเริ่มเปิดให้สมาชิกได้ยืนยันตัวตนในวันที่ 2 เมษายนนี้ ซึ่งพรรคชาติไทยพัฒนามีสมาชิกแค่ประมาณ 25,000 คน ต่างจากพรรคขนาดใหญ่ที่มีสมาชิกจำนวนสูงถึงหลักล้านจึงต้องการความชัดเจนจาก กกต. โดยเร็วที่สุด
ส่วนการที่ คสช.ให้เวลาสมาชิกได้ยืนยันตัวตนเพียง 30 วัน จะถือเป็นการเซ็ทซีโร่สมาชิกพรรคหรือไม่นั้น ส่วนตัวมองว่าไม่ถือเป็นการเซ็ทซีโร่ เพราะ คสช.ก็ได้ให้เวลากับสมาชิกและพรรคการเมืองในการเตรียมตัวมาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งพรรคไม่ตรงกังวลจำนวนสมาชิกที่อาจลดลง เพราะเชื่อว่าถึงอย่างไรครั้งนี้สมาชิกพรรคต้องลดลง เห็นได้จากเอกสารตอบกลับที่สมาชิกส่งกลับมาทางพรรค หลังจากที่พรรคได้มีการสอบถามไปยังสมาชิก
ขณะเดียวกัน ทางพรรคคงไม่ได้มีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่ออำนวยความสะดวกให้สมาชิกในการยืนยันตัวตนเช่นเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากสมาชิกพรรคส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร ซึ่งอาจไม่สะดวกในการใช้แอพพลิเคชั่น
นายวราวุธ ยังแสดงความเห็นถึงการที่ สนช.อาจยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างกฎหมายลูกเพื่อการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ว่า เชื่อว่าไม่มีใครเห็นด้วยกับการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป แต่ขอเอาใจช่วยให้การตีความของกระบวนการใดก็ตาม ไม่กระทบกับโรดแมปและหวังว่าในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น
ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรีระบุว่า ต้องการให้พรรคการเมืองเสนอชื่อผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก่อน แต่หากไม่ได้จึงให้มาถามตัวเองนั้นจุดยืนของพรรคชาติไทยพัฒนาจะเสนอชื่อคนของพรรค 3 รายชื่อโดยไม่มีชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ แน่นอน แต่หากไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ในครั้งแรกได้ แล้วครั้งที่ 2 จะเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่นั้นเป็นเรื่องของอนาคต ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าจะรับหรือไม่