พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เห็นว่ากระแสความนิยมละครอิงประวัติศาสตร์ที่ทำให้คนไทยสนใจเดินทางท่องเที่ยวแหล่งโบราณสถาน และศึกษาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ยอดจำหน่ายหนังสือในหมวดประวัติศาสตร์ โบราณคดี และอัตชีวประวัติบุคคลสำคัญในอดีตเพิ่มขึ้นนั้น ถือเป็นเรื่องที่ดี และอยากให้เกิดความยั่งยืน คนไทยเกิดความใฝ่รู้ รักความเป็นไทย และสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของชาติตลอดไป
"นายกฯ ให้แนวทางกับกระทรวงการท่องเที่ยวฯ กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงมหาดไทยในฐานะที่ดูแลแต่ละจังหวัดในภาพรวม ไปค้นหาเอกลักษณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีความโดดเด่น เพื่อนำไปเชื่อมโยงกับการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยว เจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติที่สนใจเกี่ยวกับรากเหง้าและวิถีชีวิตแบบไทย โดยเฉพาะในเมืองรอง 55 จังหวัด ที่รัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวอยู่ในขณะนี้" พล.ท.สรรเสริญ กล่าว
พร้อมระบุว่า นายกรัฐมนตรีได้ยกตัวอย่างภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติประจำปี 2561 ที่เพิ่งขึ้นบัญชี จำนวน 18 รายการ 6 สาขา ได้แก่ 1) สาขาวรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา 2) ศิลปะการแสดง 3) แนวปฏิบัติทางสังคม 4) ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล 5) งานช่างฝีมือดั้งเดิม 6) การละเล่นและกีฬาพื้นบ้าน เช่น ประเพณีปอยส่างลอง จ.แม่ฮ่องสอน การทำกลองเอกราช จ.อ่างทอง เรือก่าบาง จ.พังงา วัวเทียมเกวียน จ.เพชรบุรี การเล่นสะบ้า จ.สมุทรปราการ นนทบุรี กาญจนบุรี หรือลิเก จ.พิจิตร-นครสวรรค์ สะไน จ.ศรีษะเกษ และวายังกูเละ จ.ยะลา สามารถนำไปสร้างเรื่องราว (Story) และจัดแผนกิจกรรมการท่องเที่ยว พร้อมจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับ เพื่อให้เป็นทางเลือกให้แก่นักท่องเที่ยว
สำหรับจังหวัดหรือชุมชนที่ยังไม่มีสิ่งดึงดูดใจแก่ท่องเที่ยว อยากให้ช่วยกันคิดและค้นหา เพราะเชื่อว่าทุกพื้นที่ย่อมมีจุดเด่นเฉพาะตัว ซึ่งอาจเป็นไปได้ทั้งรูปแบบของสถานที่ ผลิตภัณฑ์และภูมิปัญญาท้องถิ่น อาหาร ประเพณี หรือแม้แต่บุคคลต้นแบบ ก็สามารถนำไปสร้างเรื่องราวที่น่าสนใจได้
"นายกรัฐมนตรีสนับสนุนความร่วมมือตามแนวทางประชารัฐที่ภาครัฐ เอกชน และคนในพื้นที่ร่วมกันริเริ่ม สร้างสรรค์ และบริหารจัดการกิจกรรมการท่องเที่ยวของตนเอง เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ รวมทั้งรักษาและสืบทอดสมบัติที่ล้ำค่าของไทยให้ยั่งยืนต่อไป" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว