ในวันนี้ (1 พ.ค.)ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางที่เพิกถอนคำสั่งยกเลิกหนังสือเดินทางของนายทักษิณ ชินวัตร
จากที่นายทักษิณ ชินวัตร ฟ้องอธิบดีกรมการกงสุลและปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า การเพิกถอนหนังสือเดินทางไม่ได้มีผลโดยตรงในการห้ามการเดินทาง แต่เสรีภาพการเดินทางไปต่างประเทศอาจถูกจำกัดได้ด้วยข้อกำหนดของแต่ละประเทศ และรัฐย่อมมีอำนาจกำหนดข้อปฏิเสธในการออกหนังสือเดินทางเพื่อป้องกันผู้กระทำผิดหลบหนีและป้องกันไม่ให้มีการกระทำอันเสื่อมเสียแก่ประเทศชาติ
ข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวต่างประเทศเกี่ยวกับข้อเท็จจริงในเหตุการณ์รัฐประหารในประเทศไทย โดยมีเนื้อหากล่าวถึงองคมนตรีซึ่งมีหน้าที่ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ ในทำนองที่ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ถ้อยคำดังกล่าวจึงเป็นปรปักษ์กับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก่อให้เกิดความเสียหายแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นการกระทบต่อชื่อเสียงและเกียรติภูมิของประเทศไทยตามข้อ ๒๑ (๔) ของระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ.2548 การยกเลิกหนังสือเดินทางจึงมีผลเป็นการไม่รับรองให้ผู้ฟ้องคดีสามารถเดินทางโดยอ้างสิทธิการอนุญาตของประเทศไทยได้อีกต่อไป ซึ่งศาลมีอำนาจแปลความหรือวินิจฉัยถ้อยคำการให้สัมภาษณ์ของผู้ฟ้องคดีได้ว่าเข้าหลักเกณฑ์ข้อห้ามตามที่กำหนดไว้หรือไม่
การที่อธิบดีกรมการกงสุลมีคำสั่งยกเลิกหนังสือเดินทางของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางที่พิพากษายกฟ้อง