ศาลรัฐธรรมนูญ นัดลงมติร่างกม.เลือกตั้งส.ว., นัดวินิจฉัยปมกม.ส.ส.-คำสั่งคสช. 53/2560 วันที่ 23 พ.ค.

ข่าวการเมือง Wednesday May 2, 2018 17:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศาลรัฐธรรมนูญ ได้ประชุมปรึกษาพิจารณาคดี 3 เรื่อง กรณีแรกเป็นหนังสือของประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ส่งความเห็นของสมาชิก สนช.จำนวน 30 คน ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 263 ว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) พ.ศ. ... มาตรา 91 มาตรา 92 มาตรา 93 มาตรา 94 มาตรา 95 และมาตรา 96 มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 หรือไม่

ข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า สมาชิก สนช.และคณะรวม 30 คน เห็นว่า ร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) พ.ศ. ... ในบทเฉพาะกาล มาตรา 91 มาตรา 92 มาตรา 93 มาตรา 94 มาตรา 95 และมาตรา 96 ที่กำหนดให้ในวาระเริ่มแรกของ ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 269 ซึ่งมีการกำหนดจำนวนกลุ่มผู้สมัคร วิธีการสมัคร และกระบวนการเลือก ในบทเฉพาะกาลดังกล่าวได้กำหนดไว้แตกต่างไปจากการได้มาซึ่งสมาชิก ส.ว.ตามบททั่วไป มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 จึงเสนอความเห็นต่อประธาน สนช.เพื่อให้ส่งความเห็นดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 263 ว่า ร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) พ.ศ. ... มาตรา 91 มาตรา 92 มาตรา 93 มาตรา 94 มาตรา 95 และมาตรา 96 มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 หรือไม่

ต่อมา ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ, นายกิตติ วะสีนนท์ สมาชิก สนช.ซึ่งเป็นผู้แทนของฝ่ายเสนอความเห็น, นายสมชาย แสวงการ ผู้แทนของสมาชิก สนช.ที่ลงมติเห็นชอบในวาระที่สาม และประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) พ.ศ. ... ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 วรรคห้า ได้ส่งความเห็นเป็นหนังสือและข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่อศาลภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด

"ศาลพิจารณาความเห็นเป็นหนังสือดังกล่าวแล้วมีคำสั่งรับรวมไว้ในสำนวน ต่อจากนั้นศาลได้กำหนดประเด็นและอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัย นัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติในวันพุธที่ 23 พฤษภาคม 2561" คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ระบุ

ส่วนกรณีที่สองเป็นหนังสือของประธาน สนช.ส่งความเห็นของสมาชิก สนช.จำนวน 27 คน ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 263 ว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พ.ศ. ... มาตรา 35 (4) และ (5) มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 95 วรรคสาม และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 92 วรรคหนึ่ง มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 85 หรือไม่

ข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า สมาชิก สนช.และคณะรวม 27 คน เห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พ.ศ. ... มาตรา 35 (4) และ (5) มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 95 วรรคสาม และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 92 วรรคหนึ่ง มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 85 จึงเสนอต่อประธาน สนช.เพื่อให้ส่งความเห็นดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 267 วรรคห้า และมาตรา 263 และประธาน สนช.ได้ส่งความเห็นดังกล่าวมายังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 267

ต่อมา ประธานกรรมการการเลือกตั้ง, นายปรีชา วัชราภัย สมาชิก สนช.ซึ่งเป็นผู้แทนของฝ่ายเสนอความเห็น, ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พ.ศ. ... ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 วรรคห้า และประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ได้ส่งความเห็นเป็นหนังสือและข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่อศาลภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด

"ศาลพิจารณาความเห็นเป็นหนังสือและข้อมูลที่เกี่ยวข้องดังกล่าวแล้วมีคำสั่งรับรวมไว้ในสำนวน ต่อจากนั้นศาลได้กำหนดประเด็นและอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัย และนัดอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยต่อในวันพุธที่ 23 พฤษภาคม 2561" คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ระบุ

และกรณีที่สามเป็นหนังสือของผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 231 (1) ว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 140 และมาตรา 141 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 53/2560 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 มาตรา 26 มาตรา 27 และมาตรา 45 หรือไม่

ข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ร้องเรียนว่าคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาแล้วมีความเห็นว่า คำสั่งหัวหน้า คสช.มีสถานะเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 231 (1) และบทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้รับรองและคุ้มครองการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 ประกอบมาตรา 45 อีกทั้งยังมีลักษณะเป็นการเพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องสถานะของบุคคล ฐานะทางสังคม และความคิดเห็นทางการเมือง ซึ่งขัดกับหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 ได้รับรองและคุ้มครองไว้ ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงเสนอเรื่องพร้อมความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 231 (1) ว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 140 และมาตรา 141 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 53/2560 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 มาตรา 26 มาตรา 27 และมาตรา 45

ต่อมา ประธานกรรมการการเลือกตั้ง, พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ส่งความเห็นเป็นหนังสือและข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่อศาลภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด

"ศาลพิจารณาความเห็นเป็นหนังสือและข้อมูลที่เกี่ยวข้องดังกล่าวแล้วมีคำสั่งรับรวมไว้ในสำนวน สำหรับกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีหนังสือขอขยายระยะเวลาในการส่งความเห็นเป็นหนังสือและข้อมูลที่เกี่ยวข้องเป็นวันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม 2561 นั้น ศาลพิจารณาแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาตามคำขอ และนัดอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยในวันพุธที่ 23 พฤษภาคม 2561" คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ระบุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ