พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ยุติธรรม กล่าวในหัวข้อ "มุมมองของรองนายกฯ ประจินฯ" ในกิจกรรม "สื่ออยากรู้ รัฐบาลอยากเล่า" ว่า สิ่งที่รัฐบาลได้ทำไปแล้วคือการแก้ปัญหาเพื่อเดินหน้าไปสู่อนาคตระยะยาว ประกอบด้วย 5 ปัจจัย คือ เน้นการดำเนินการอำนวยความยุติธรรม, ลดความเหลื่อมล้ำ, ขจัดความทุกข์ยาก, สร้างความสามัคคี และคืนคนดีสู่สังคม
โดยรัฐบาลพยายามทุ่มเทในทุกๆ ด้าน ทั้งการจัดการศึกษาให้กับเด็กๆ เพื่อพัฒนาให้เป็นคนเก่งและคนดีของสังคม ในส่วนของการคมนาคมด้านการบินมีการเพิ่มสนามบินและพัฒนาให้เกิดความสะดวกคล่องตัวรองรับกับการขนส่งและจำนวนผู้เดินทางที่มีเพิ่มมากขึ้น ส่วนการขนส่งทางน้ำได้เพิ่มความสะดวกและทำให้มีความพร้อมเพื่อพัฒนาให้กลายเป็นผู้นำในอาเซียน
ด้านพลังงาน กำลังการใช้ไฟในปัจจุบันยังคงมีมาก โดยพบว่า กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล มีปริมาณใช้ไฟฟ้ามากสุดถึง 60% และยังมีความจำเป็นที่ต้องมีการนำเข้าพลังงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งรัฐบาลมีจำเป็นที่ต้องมีการสร้างเสถียรภาพด้านพลังงานและให้เพียงพอต่อการใช้ในภาคอุตสาหกรรมและคมนาคม จึงมีแผนในการหาแหล่งพลังงานสำรองเพิ่มเติม และต้องเป็นพลังงานสะอาดและด้านดิจิตอลมีการพัฒนาความเชื่อมโยงทุกประเทศผ่านทางเคเบิ้ลใต้น้ำ และการใช้ดาวเทียมในการสื่อสาร เพื่อให้เข้าถึงการให้บริการผ่านระบบอินเตอร์เนต ทั้งโครงการเนตประชารัฐและการสร้างดิจิทัลชุมชน
ทั้งนี้ รัฐบาลได้วางกรอบการพัฒนาในทุกๆ 5 ปีและหวังให้บรรลุเป้าหมาย 4.0 ภายใน 20 ปีข้างหน้า จึงต้องมีการพัฒนาทั้งเรื่องคนและเทคโนโลยี ซึ่งสิ่งสำคัญต้องมีการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา
ด้านนายธรรมยศ ศรีช่วย ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงฯ มีภารกิจสำคัญเรื่องการสนับสนุนงานรัฐบาล เรื่องแรกคือจัดทำแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) ที่จะมีการปรับปรุงแผนในปี 2018 ในการจัดหาแหล่งพลังงานไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการ แต่จะไม่เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน รวมถึงต้องรักษาสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นการผลิตไฟฟ้าให้เหมาะสมโดยคำนึงถึงศักยภาพของเชื้อเพลิงในแต่ภูมิภาคให้สามารถพึ่งพาการใช้พลังงานให้เพียงพอ พร้อมทั้งสนับสนุนให้เกษตรกรในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นโดยมีการสนับสนุนจากรัฐบาล มั่นใจได้ว่าแผนพีดีพีจะทำให้การจัดหาแหล่งพลังงานไฟฟ้าเพียงพอต่อความต้องการ
ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า รัฐไม่ได้หยุดรับซื้อไฟฟ้าที่มาจากพลังงานทดแทน ซึ่งตามแผนพีดีพีฉบับ 2015 กำหนดเป้ารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนช่วงปี 2015-2036 ประมาณ 1.6 หมื่นเมกะวัตต์ แต่เพียง 3 ปี รับซื้อไปแล้วเกือบ 1 หมื่นเมกะวัตต์ ซึ่งจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ต้นทุนต่ำลง ทำให้ในแผนพีดีพีฉบับใหม่ที่คาดว่าจะออกมาในช่วงปลายเดือนกันยายน จะมีกำหนดวิธีการและปรับปรุงการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานทดแทนใหม่ โดยการรับซื้อต้องไม่เป็นภาระของผู้ใช้ไฟ หรือเป็นภาระต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ส่วนการกำหนดราคากลางในการรับซื้อ อยู่ระหว่างการพิจารณาในแผนพีดีพีฉบับใหม่ แต่ยืนยันว่า อัตราในการรับซื้อในแต่ละพลังงานทดแทนต้องมีความเหมาะสม
ส่วนความคืบการเปิดประมูลขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย อยู่ระหว่างการประกาศเชิญชวนเอกชนที่สนใจจะเข้าร่วมประมูล โดยคาดว่า จะได้บริษัทที่ชนะการประมูลในช่วงปลายปี 2561
สำหรับโครงการไทยนิยมยั่งยืนได้สนับสนุนการจัดหาแหล่งพลังงานเสริม เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ และพื้นที่ชายขอบที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึงจะมีการส่งเสริมด้านงบประมาณให้สามารถเจ้าถึงแหล่งพลังงานเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้เหมือนคนในเมือง
ขณะที่นางอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า กระทรวงฯ เน้นการพัฒนาประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 และการพัฒนาเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งสิ่งสำคัญคือต้องมีโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลให้กับประชาชน โดยรัฐบาลได้มีโครงการเน็ตประชารัฐให้กับประชาชนในทุกพื้นที่ และขณะนี้แล้วเสร็จไปแล้ว 24,700 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 41ของทั้งประเทศ มีอินเตอร์เน็ตเข้าถึงในแต่ละหมู่บ้านแล้ว และอีกกว่า 15,700 หมู่บ้านอยู่ระหว่างการดำเนินการ คาดแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2561 ซึ่งประโยชน์ของเน็ตประชารัฐเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อให้เข้าถึงประโยชน์ในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านสาธารณสุข ที่จะช่วยสื่อสารข้อมูลระหว่างผู้ป่วยในหมู่บ้านกับโรงพยาบาล และเพื่อให้ประชาชนมีช่องทางในการจำหน่ายสินค้าของชุมชนผ่านทางออนไลน์ได้ ทั้งนี้ได้ส่งวิทยากรแกนนำ ที่มีความรู้ ไปแนะนำการใช้อินเตอร์เน็ตให้กับผู้นำชุมชน สำหรับการจะเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตไปยังแต่ละครัวเรือนของประชาชน ได้มอบให้ทางผู้บริการด้านอินเตอร์เน็ตรายอื่น เข้ามาเชื่อมต่อโครงข่ายที่รัฐบาลวางเอาไว้ ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างภาคเอกชนยื่นคำขอเข้ามา
สำหรับการจัดเตรียมนักรบไซเบอร์ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการเตรียมการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้เราก้าวเข้าสู่โลกไซเบอร์ ซึ่งมีทั้งแง่บวกและแง่ลบ โดยแง่ลบคือการละเมิดบุคคลที่สาม และการทำลายข้อมูล จึงต้องมีการออกมาตรการต่างๆขึ้นมาจับตาการใช้คอมพิวเตอร์ในทางที่ผิด ซึ่งขณะนี้มีกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ทำงานร่วมกับหน่วยงานความมั่นคง และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) อีกทั้งยังมีการออกกฎหมายพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาบังคับใช้แล้ว จากนี้จะมีกฎหมายตามมา เกี่ยวกับการละเมิดบุคคลที่สาม แต่บุคลากรยังไม่เพียงพอ ทำให้ต้องจัดอบรมนักรบไซเบอร์เพิ่มเติม โดยตั้งเป้าจะเร่งดำเนินการให้ได้ 1,000 คน ซึ่งจะมีการคัดเลือกบุคคลเข้าอบรมหลักสูตรนักรบไซเบอร์ 200 คนก่อน ในช่วงกลางเดือนมิถุนายนนี้ โดยทั้งหมดต้องใช้งบประมาณในการฝึกอบรม 350 ล้านบาท
นางวัฒนาพร ระงับทุกข์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงฯ ได้ดำเนินการปฏิรูปการศึกษาหลายด้าน ทั้งระบบบริหารจัดการภาครัฐ โดยเน้นโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่มีผลต่อผู้เรียนโดยตรง คือ การพัฒนาครู ที่ต้องพัฒนาอย่างเร่งด่วน โดย ครม.อนุมัติให้ดำเนินโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ในระยะเวลา 10 ปี ซึ่งมีหลักการในการผลิตครูตามอัตราที่จะบรรจุ โดยในปีนี้ได้ดำเนินการคัดเลือกสถาบันที่จะใช้ผลิตครูที่มีศักยภาพ ตรงตามหลัก้กณฑ์ที่กำหนด และผลิตครูตามวิชาชีพที่ต้องการและขาดแคลน เพื่อรองรับนักศึกษาใหม่และอีกแนวทางหนึ่งคือการคัดเลือกจากนักศึกษาครู เพื่อเข้าสู่ระบบการบรรจุและพัฒนาให้เป็นครูดีครูเก่ง
ทั้งนี้ในปีที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดสรรงบประมาณให้ครู 10,000 บาทต่อคนต่อปี หรือที่เรียกว่า คูปองครู เพื่อให้ครูไปเลือกหลักสูตรที่ต้องการและสนใจพัฒนา โดยมีครูกว่า 3 แสนคนเข้าสู่ระบบนี้ เพื่อเข้ารับการอบรม และในปีนี้ มีครูเข้ารับการอบรมหลักสูตร กว่า 270,000 คน ใน 785 หลักสูตร ซึ่งการปรับปรุงประสิทธิภาพครูจะส่งผลต่อประสิทธิภาพของผู้เรียนด้วย
นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ในส่วนกระทรวงยุติธรรมนั้น เวลาจะร่างกฎหมายแต่ละฉบับออกมาทุกคนต้องได้รับความยุติธรรมอย่างทั่วถึง และรัฐบาลพยายามทำให้กระบวนการยุติธรรมเข้าถึงคนทุกภาคส่วนโดยเฉพาะคนจน จึงจัดตั้งกองทุนยุติธรรมขึ้นมาเพื่อดูแล โดยช่วยเหลือเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี เช่น ค่าธรรมเนียมศาล ค่าทนายความ ค่าพาหนะเดินทาง และค่าใช้จ่ายในการปล่อยตัวชั่วคราว เป็นต้น
โดยขณะนี้กำลังเดินหน้าเรื่องศูนย์ยุติธรรมชุมชน และเร่งจัดอบรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อให้สามารถเป็นตัวแทนดำเนินการช่วยเหลือชาวบ้านในแต่ละพื้นที่โดยไม่ต้องเดินทางเข้าไปดำเนินการในตัวจังหวัด ซึ่งเชื่อว่าหากสำเร็จประชาชนคนจน จะได้ไม่ต้องร้องไห้หรือจำยอมรับผิด เพราะไม่มีเงินต่อสู้คดี