ผู้ร่วมจัดตั้งพรรคพลังธรรมใหม่ประชุมครั้งแรกในวันนี้ โดยมีสมาชิกพรรคจากทั่วประเทศลงทะเบียนร่วมประชุมจัดตั้งพรรคพลังธรรมใหม่ กว่า 642 คน โดยที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ นพ.ระวี มาศฉมาดล เป็นหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ พร้อมทั้งจัดตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดแรก 32 คน มี นพ.นิทัศน์ รายยวา เป็นเลขาธิการพรรค นายอำนวย อินทศร เป็นเหรัญญิกพรรค นายสามน สังค์ทอง เป็นนายทะเบียนพรรค
นอกจากนั้น ยังจัดตั้งกรรมการบริหารพรรคประจำ 12 ภาคทั่วประเทศ ได้แก่ ภาคเหนือตอนบน, ภาคเหนือตอนล่าง, ภาคกลาง, กรุงเทพมหานคร, ภาคตะวันออก,ภาคตะวันตก, อีสานตอนบน1,อีสานตอนบน2,อีสานตอนล่าง1, อีสานตอนล่าง 2, ใต้ตอนบน,ใต้ตอนล่าง
หลังจากนี้จะเสนอชื่อให้กับคณะกรรมการใหญ่เพื่อพิจารณาอีกครั้ง รวมไปถึงการรับรองข้อบังคับและนโยบายพรรค เพื่อให้สอดคล้องกับระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
ที่ประชุมยังให้การรับรองรายชื่อคณะกรรมการบริหารพรรครวม 32 คน เช่น ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ผอ.ศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและทรัพยากร มหาวิทยาลัยรังสิต นายคมกฤช รัตนเสถียร นพ.พรณรงค์ พัฒนาบุญไพบูลย์ อดีตคณะกรรมการบริหารพรรคพลังธรรม นายทศพล แก้วทิมา แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และนายชัชวาลย์ ชมภูแดง อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษาพรรค เป็นต้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมมีการลงมติเลือก นายนาม ยิ้มแย้ม อดีตประธานคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ( คตส.) ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการธรรมาภิบาลของพรรค และกรรมการ รวม 5 คน ซึ่งจะทำหน้าที่ป้องกันและตรวจสอบการทุจริตของนักการเมืองของพรรค หัวหน้าพรรค และสมาชิกพรรคทั่วประเทศ
นพ.ระวี กล่าวกับสมาชิกพรรคว่า ตั้งเป้าได้ที่นั่ง ส.ส. 50 คน และตั้งใจจะเป็นพรรคของประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งในช่วง 3 เดือนจากนี้ พรรคจะรวบรวมสมาชิกพรรคให้ได้อย่างน้อย 1 แสนคน และจะส่งตัวแทนพรรคลงรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.ครบทุกเขตเลือกตั้ง โดยหวังจะได้คะแนนเสียงทั่วประเทศไม่ต่ำว่า 3.5 ล้านเสียง
สำหรับนโยบายพรรคพลังธรรมใหม่เน้นการกระจายอำนาจสู่ภูมิภาค ให้ความสำคัญในระดับภูมิภาคเทียบเท่าส่วนกลาง ซึ่งการส่งส.ส.ในระบบสัดส่วนใน 50 อันดับแรก พรรคจะคัดเลือกและส่งผู้สมัครจากภูมิภาค รวมถึงการบริหารจัดพรรคในส่วนของงบประมาณ พรรคจะให้กรรมการบริหารพรรคในแต่ละภาคเป็นคนบริหารจัดการเองทั้งหมด
ทั้งนี้ พรรคพลังธรรมใหม่จะเป็นมิตรกับทุกพรรค ไม่มองพรรคใดพรรคหนึ่งเป็นศัตรู โดยมีเป้าหมายยุติความขัดแย้งทางการเมืองรวมประเทศไทยเป็นหนึ่งเดียว พรรคจะสืบทอดอุดมการณ์คุณธรรมนำการเมือง เน้นความซื่อสัตย์ และต้องเป็นพรรคที่ไม่มีคอร์รัปชั่น
อย่างไรก็ตาม พรรคพลังธรรมใหม่เน้นการสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรี ผ่านการทำประชามติของพรรค และพรรคจะนำประเทศสู่สังคมธรรมาธิปไตย มีระบอบประชาธิปไตยที่เป็นธรรม
สำหรับนโยบายเด่นๆของพรรคนั้น ด้านเศรษฐกิจจะทำให้กลไกลการค้าเป็นแบบเสรีและเป็นธรรม ต่อต้านการผูกขาด และจะเข้าไปปฏิรูปเรื่องพลังงานไทย โดยจะมีการแก้ไขสัญญาปิโตรเลียมทุกฉบับ และให้มีการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนเพื่มขึ้นปีละ 10 % เป็นต้น ซึ่งหลังจากนี้พรรคจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายพรรคเพื่อจัดทำนโยบายที่เป็นรูปธรรมและนำเสนอต่อสมาชิกให้รับทราบต่อไป
อย่างไรก็ตาม นพ.ระวี ได้กล่าวถึง การโหวตเลือกนายกรัฐมตรีในสภาว่า หากพรรคพลังธรรมใหม่ได้ ส.ส.เกิน 25 เสียง จะเสนอคนของพรรคเป็นนายกรัฐมนตรี แต่หากพรรคมีโอกาสได้มีส่วนร่วมในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี จากการเสนอ 3 รายชื่อที่พรรคอื่นเสนอมา หรือหากต้องมีการเลือกนายกรัฐมนตรีจากคนนอก พรรคจะให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมผ่านการทำประชามติของสมาชิกพรรคว่าจะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรี
ส่วนกระแสการดูดอดีต ส.ส.ของพรรคการเมืองที่มีเจตนาสนับสนุนรัฐบาลในขณะนี้นั้น หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ มองว่า ในแง่ของพรรคการเมืองไม่ได้กังวลแต่อย่างใด เพราะทางพรรคก็มีการดูดคนดีทั่วประเทศมาร่วมงานกับทางพรรคเช่นเดียวกัน แต่มองว่า เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องน้ำเน่าทางการเมือง
"การดึงนักการเมืองหน้าเก่า ในส่วนพรรคเราไม่ห่วง พลังธรรมจะดูดคนดีทั่วประเทศ พรรคอื่นจะดูดก็ดูดไป แต่เรื่องนี้ถือเป็นปรากฏการณ์น้ำเน่าทางการเมือง"นพ.ระวี กล่าว