พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีข้อสั่งการในเรื่องต่างๆ ดังนี้ เรื่องแรกคือ Big Data ซึ่งได้สั่งการในที่ประชุม ครม.มาหลายครั้งแล้วและกำหนดตารางเวลาให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน หรือราวเดือน ก.ค.นี้จะต้องมีความเป็นรูปเป็นร่างมากพอสมควร
โดยนายกฯ ได้อธิบายเพิ่มเติมเพื่อให้แต่ละกระทรวง ทบวง กรมมีความเข้าใจมากขึ้นว่า แต่ละกระทรวงจะต้องไปคัดเลือกข้อมูลของตัวเองว่า มีข้อมูลอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อกระทรวงอื่นที่จะนำข้อมูลนั้นๆ ไปใช้งาน ข้อมูลอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อการบริหารราชการแผ่นดินในภาพรวมที่สามารถหยิบข้อมูลไปใช้เพื่อวางแผนหรือกำหนดแนวทางในการปฏิบัติ แต่ไม่ได้เป็นข้อมูลที่เป็นความลับของทางราชการ หรือเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ทุกหน่วยงานจะต้องกำหนดข้อมูลเหล่านี้ให้ได้ และบรรจุข้อมูลลงไปในแบบฟอร์ม แต่ละหน่วยงานอาจจะมีแบบฟอร์มของตัวเองในขั้นต้น แต่เมื่อผ่านไปสักระยะกระทรวงดีอีจะเป็นผู้ประสานงานว่าแบบฟอร์มโดยรวมจะเป็นอย่างไร เพื่อให้ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชนสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ใช้ได้
"เช่น ข้อมูลการใช้น้ำประปาหรือไฟฟ้าของแต่ละพื้นที่จะต้องมีข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละเดือนว่าพื้นที่นี้ อำเภอนี้ กลุ่มจังหวัดนี้มีการใช้น้ำประปา ใช้ไฟฟ้าแค่ไหน เพื่อจะเป็นประโยชน์ในการวางแผนวันข้างหน้าว่าถ้ามีการเสนอแผนขยายกำลังผลิต มันสอดคล้องกับปริมาณการใช้ของประชาชนในพื้นที่นั้นๆหรือไม่อย่างไร" พล.ท.สรรเสริญ กล่าว
อีกเรื่องที่มีข้อสั่งการ คือ กรณีบัตรสวัสดิการรัฐ มีประชาชนผู้มีรายได้น้อยลงทะเบียนไว้ 14 ล้านกว่าคน แต่เมื่อตรวจสอบแล้วเหลือผู้ที่มีคุณสมบัติ 11 ล้านกว่าคนที่ได้รับบัตรสวัสดิการรัฐ จะต้องมีข้อมูลที่อัพเดททุกๆ เดือนเพื่อให้เห็นว่าประชาชนแต่ละคนแต่ละกลุ่มมีการใช้จ่ายบัตรในกรณีใดบ้าง เช่น ซื้อสินค้าประเภทไหน ใช้ขึ้นรถเมล์เท่าไหร่ ใช้เติมแก๊สเท่าไหร่ เพื่อจะได้วางแผนสำหรับวันข้างหน้าว่าจะเติมเงินสวัสดิการให้คนกลุ่มใด หรือเงินไปกระจุกตัวที่เครื่องอุปโภคบริโภคประเภทใดเป็นพิเศษ มีการผูกขาดหรือไม่
"นี่คือสิ่งที่ท่านนายกฯ ประสงค์อยากจะให้ Big Data เกิดประโยชน์ เพราะฉะนั้นในช่วงเดือน ก.ค.นี้แม้ว่าจะไม่เบ็ดเสร็จทั้งหมดแต่ก็จะต้องมีความก้าวหน้าให้เห็นว่าข้อมูลที่แต่ละกระทรวง ทบวง กรมบรรจุเอาไว้มีอะไรบ้าง เริ่มทำกันไปถึงไหนแล้ว" พล.ท.สรรเสริญ กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบ โดยเฉพาะเกษตรกร ซึ่งในส่วนกลางมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน ในระดับพื้นที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 77 จังหวัดเป็นประธานในการแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบ วิธีการแก้ไขปัญหาคือ เจรจาประนอมหนี้ เจรจาลดต้นลดดอกเท่าที่สามารถทำได้ ดอกเบี้ยอะไรก็แล้วแต่ที่สูงเกินกว่าอัตราที่กำหนดไว้ต้องมีการยกเลิกและเก็บดอกเบี้ยในอัตราที่กำหนด จัดระเบียบความเร่งด่วนของเจ้าหนึ้เพื่อให้ลูกหนี้ที่มีรายได้สามารถผ่อนหนี้ให้กับเจ้าหนี้ได้ แต่ทึ่ผ่านมายังไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้สินให้กับประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ สาเหตุจากผู้ว่าราชการจังหวัดจัดตั้งสำนักงานรับแจ้งความเดือดร้อนจากประชาชนจึงเหมือนกันรอให้ผู้เดือดร้อนเข้ามาหา
"วันนี้นายกฯ จึงสั่งการให้พิจารณาเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วน มอบหมายให้ฝ่ายความมั่นคง คสช.ลงไปช่วยสำรวจเรื่องหนี้สินนอกระบบ โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร ทั้งสำรวจและประสานงานการแก้ปัญหาหนี้สินนอกระบบทั้งในส่วนกลางและระดับจังหวัด เพื่อแกัไขปัญหาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้" พล.ท.สรรเสริญ กล่าว
ส่วนเรื่องการปฏิรูป วันนี้แผนปฏิรูปทั้ง 11 ด้านได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว ทุกหน่วยงาน ทุกกระทรวง ทบวง กรม จะต้องตรวจสอบข้อมูลของตัวเองว่าตามบทบาทของหน่วยงานตนเองในทั้ง 11 ด้าน จะต้องอะไรบ้างและแยกออกมาเป็นเรื่องๆ ว่าเรื่องไหนสามารถทำได้ ทำได้ทันที หรือทำได้ในระยะเวลาข้างหน้ากี่เดือนกี่ปี ต้องกำหนดให้ชัดเจน เมื่อกำหนดได้แล้วเริ่มดำเนินการรายงานให้ ครม.ทราบ เสร็จแล้วก็นำไปปรับแก้ไขกฎหมายต่างๆเพื่อให้การปฏิบัติในเรื่องต่างๆมีกฏหมายรองรับ แต่เรื่องใดที่ทำไม่ได้ก็ต้องปรึกษาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแนำเสนอเพื่อประสานงานกับคณะปฏิรูป เพราะฉะนั้นทั้ง 11 แผน ไม่ต้องตื่นเต้นตกใจ วิพากษ์วิจารณ์ว่าแผนปฏิรูปจะสัมฤทธิ์ผลยาก
นอกจากนั้น นายกฯพยายามให้ตระหนักถึงสิ่งต่างๆที่รัฐบาลนี้เข้ามาว่า มีหลายเรื่องที่ได้ทำการปฏิรูปไปแล้วและกำลังดำเนินการปฏิรูป และวางแผนจะปฏิรูปเพิ่มเติมในอนาคตข้างหน้า เพราะฉะนั้นคำถามที่ถามนายกฯบ่อยๆ ว่า 4 ปีปฏิรูปเสร็จหรือไม่ มันไม่มีทาง เพราะสังคม สถานการณ์ของโลก สถานการณ์ของบ้านเมือง สถานการณ์ของภุมิภาคมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ มันต้องมีการปฏิรูปอยู่ตลอดเวลา เรื่องที่ปฏิรูปหลายอย่างที่ภาคประชาชนก็มีส่วน ภาคเอกชนก็มีส่วน ภาครัฐก็มีส่วน เช่น การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย แต่เดิมประมงไม่ผิดกฎหมายก็มี แต่จำนวนเรือประมงเยอะเกินกว่าทรัพยากรที่มีอยู่ เราก็จำเป็นที่จะต้องลดจำนวนเรือประมงลง ซึ่งก็มีความขัดแย้งเกิดขึ้นในช่วงแรก แต่หลังจากทุกฝ่ายทำความเข้าใจ สื่อมวลชนนำเสนอข้อมูลความจำเป็นที่ต้องทำให้สอดคล้องกับกฏกติกาโลกอย่างไร ทุกอย่างก็ผ่านไปด้วยดี เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าเป็นไปไม่ได้ที่การปฏิรูปจะไม่สำเร็จ แต่เราต้องเข้าใจว่สในช่วงที่ผ่านมามีการปฏิรูปแล้วหลายอย่างตั้งแต่รัฐบาลนี้เข้ามา พ.ร.บ.อำนวยความสะดวก ประมง แก้ปัญหา ICAO เรื่องของผังเมือง เรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ เรื่องของการประกอบกิจการโรงงานประเภทต่างๆ ที่ได้ใบอนุญาตน้อยลง การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ อย่างนี้เป็นต้น แต่ในอนาคตก็จะมีแผนคล้ายๆแบบนี้ค่อยทยอยออกมาจากแผนที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาทั้ง 11 ด้าน หน่วยงานราชการก็จะเริ่มหยิบหยกมา อะไรทำได้ทำเลย อะไรทำได้แต่ต้องใช้เวลา 6 เดือน 8 เดือน อะไรทำไม่ได้มีเหตุผลอะไรก็ว่ากันไป
"เพราะฉะนั้นนายกฯหวังใจว่าสื่อมวลชนจะช่วยกันทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนว่าอย่าท้อแท้ตามคำวิพากษ์วิจารณ์ของบางท่านบางฝ่ายที่คิดว่าแผนปฏิรูปจะไม่สำเร็จหรือเป็นเรื่องที่ยากเกินไป มันไม่เป็นแบบนั้น" พล.ท.สรรเสริญ กล่าว