คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายสรอรรถ กลิ่นประทุม ตัวแทนจากพรรคภูมิใจไทย เข้าร่วมงานเสวนาวิสัยทัศน์ผู้นำพรรคการเมือง จัดโดยคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม
คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวเปรียบเทียบระหว่าง สภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) กับ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยมองว่า ปีนี้สถานการณ์รุนแรงกว่า ตอนนั้นแม้จะมีความพยายามสืบทอดอำนาจ แต่ก็ไม่ได้มีการวางกลไกที่จะทำให้เกิดปัญหาในการทำงาน แต่ยุคนี้การกระทำได้พิสูจน์เจตนา ที่วันแรกอ้างว่าจะแก้ปัญหาความขัดแย้งใช้เวลาไม่นาน แต่จากการกระทำ 4 ปีที่ผ่านมา การวางโรดแมพอาจจะไม่ได้คืนประชาธิปไตยให้ประชาชน แต่เป็นการรับรองให้มั่นใจว่าการเดินทางรักษาอำนาจยังดำเนินได้ต่อไปในอนาคต โดยมองจากรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ยึดโยงประชาชน เป็นการการันตีว่า ผู้มีอำนาจจะสามารถเดินกลับสู่อำนาจได้ และกฎหมายลูกก็ทำให้นักการเมืองอ่อนแอลง และจะมีบุคคลพิเศษที่ได้รับการแต่งตั้งมาตัดสินใจแทนประชาชนตัดการมีส่วนร่วมประชาชน
"ที่ผ่านมาประเทศติดหล่มมากว่า 10 ปี ได้ทำลายความมั่นคงของประเทศมากพอสมควร และถ้าหากการเมืองยังไม่นิ่งจะยิ่งทำให้การเดินหน้าประเทศยากมากขึ้น จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนความคิดจากการแย่งชิงอำนาจจากพรรคการเมืองด้วยกัน ต้องให้ทุกพรรคเคารพกติกา และยอมรับผลการเลือกตั้ง เพราะหากจะมีการต่อสู้ระหว่างการเมือง ภาคทหาร และภาคประชาชน จะไม่สามารถผลักดันการปรับโครงสร้างประเทศครั้งใหม่ได้ จึงจะต้องคิดการเมืองในบริบทใหม่ ที่ยึดผลประโยชน์ส่วนร่วมและจะต้องแก้ปัญหา"
คุณหญิงสุดารัตน์ ยังกล่าวถึงการวางนโยบายในอนาคตว่ายังจำเป็นจะต้องสนับสนุนคนรากหญ้า ไม่ใช่เพราะเพื่อฐานเสียง แต่ถ้าเศรษฐกิจฐานรากไม่ดีก็จะส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจ และจะส่งผลกระทบต่อชนชั้นกลาง และชนชั้นสูง และมองว่าการออกนโยบายที่ยิงไม่เข้าเป้า หรือต้องผ่านหน่วยงานราชการต่างๆทำให้ความช่วยเหลือไม่ถึงประชาชน จนเกิดความรั่วไหล จึงทำให้เงินที่ลงไปไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้และส่งผลกระกับชนชั้นกลาง และต้องส่งเสริมคนรุ่นใหม่ และเกษตรกร ให้เข้าถึงเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว และลดต้นทุนให้สามารถทำมาหากินได้
พร้อมทั้ง เปิดเผยว่า รู้สึกหนักใจกับการวางนโยบายพรรคตามที่ต้องทำตามยุทธศาตร์ชาติที่ คสช. วางไว้ เพราะเชื่อว่าถ้าเป็นแผนที่ดีนักการเมืองคงหยิบขึ้นมาทำ และในระบบประชาธิปไตยทุกพรรคการเมืองจะมีการนำเสนอนโยบายมาแข่งขันกันว่าใน 4 ปี จะทำอะไรเพื่อประชาชนบ้าง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นพรรคการเมืองต่างๆยังไม่สามารถเสนอนโยบายต่อประชาชนได้ ผลเสียก็จะตกกับประชาชน จึงฝากว่าหลักคิดเช่นนี้ จึงไม่น่าจะมีส่วนดีเกิดขึ้นกับประชาชนเท่ากับการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม
ทั้งนี้ แนวทางการปฏิรูปประเทศหลังเลือกตั้งควรจะดำเนินการต่อหรือไม่นั้น คุณหญิงสุดารัตน์ มองว่า จะต้องเปิดกว้างให้ประชาชนมีส่วน เพราะประชาชนเป็นผู้เผชิญกับปัญหา แต่ทุกวันนี้ไม่ได้เปิดกว้างให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ซึ่งการปฏิรูปหากไม่ฟังประชาชน แล้วให้เพียงบุคคลบางกลุ่มที่คิดว่า เป็นคนดีมาคิดแทนประชาชน ก็ไม่แน่ใจแนวทางปฏิรูปจะตอบโจทย์ประชาชนและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนได้จริงหรือไม่
คุณหญิงสุดารัตน์ ยังกล่าวถึงแนวคิดการแก้รัฐธรรมนูญในอนาคตว่า เมื่อกฎเกณฑ์มีปัญหา ต้องถามสังคมอยากให้แก้มั้ย ต้องขอฉันทานุมัติจากประชาชน อธิบายให้ประชาชนเข้าใจ การแก้ไม่ใช่สิ่งที่ผิด
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยวิสัยทัศน์ทางการเมืองหลังจากนี้จากบทเรียนที่ผ่านมาว่า ขณะนี้ไม่ใช่เวลามาโทษกันว่าเป็นความผิดของใคร แต่พรรคการเมืองก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ อยากเห็นการเมืองที่เดินไปข้างหน้าได้ มีความก้าวหน้า และไม่สะดุดล้มลงเหมือนที่ผ่านมา แต่จากรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ทำให้เกิดปัญหาว่าการเมืองจะเดินหน้าได้มากน้อยเพียงใด เพราะผู้ร่างได้นำแนวคิดแบบเก่าที่นำ ส.ว.ชุดแรกมาจากการแต่งตั้งของ คสช. มาเป็นพี่เลี้ยง ส.ส. จนอาจจะเป็นขั้วความขัดแย้งใหม่ ซึ่งส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับว่า คสช. จะแปลงตัวเองมาเป็นผู้เล่นหรือไม่ และถ้าในสภา ส.ส. ตกลงกันได้ว่าใครจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ส.ว.ก็ควรยอมรับ แต่หาก ส.ว.ไม่ยินยอมนั่นจะนำไปสู่ความขัดแย้งใหม่จนทำให้ประเทศเดินหน้ายาก พร้อมย้ำจุดยืนที่ควรให้ส.ส.ที่ประชาชนเลือกได้ทำหน้าที่ในการจัดตั้งรัฐบาล
นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงการปฏิรูปว่าจะต้องเริ่มจากพรรคการเมืองก่อน แต่จากคำสั่ง คสช. 53/2560 สมาชิกพรรค และสาขาพรรคกลับถูกรีเซต ซึ่งผู้บริหารพรรคตั้งใจจะพัฒนาบริหารพรรคไปอีกขั้น และจากเทคโนโลยีที่ให้สมาชิกเข้ามามีส่วนร่วม และตั้งใจจะให้สมาชิกทั่วประเทศมีสิทธิลงคะแนนเลือกหัวหน้าพรรคผ่านแอพพลิเคชั่น เพื่อยืนยันว่าประชาธิปัตย์มีความเป็นประชาธิปไตยในพรรค
ส่วนภาพรวมการปฏิรูปนั้น นายอภิสิทธิ์ มองว่าตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ทิศทางการปฏิรูปไม่ชัดเจนและไม่มีทางที่การปฏิรูปจะแล้วเสร็จในรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง แต่ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของการปฏิรูป และสิ่งสำคัญต้องลดอำนาจรัฐและเพิ่มอำนาจให้ประชาชน การปฏิรูปจึงจะสำเร็จได้
ส่วนการร่วมมือกับพรรคการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ ยอมรับว่า พรรคประชาปัตย์อยากชนะการเลือกตั้ง แต่หากไม่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ก็พร้อมทำหน้าที่ฝ่ายค้าน เพราะพรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจ
ส่วนเรื่องนโยบายนั้น ทางพรรคมองว่าปัญหาสำคัญสุด คือเรื่องของความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง หากพรรคได้เข้ามาบริหารประเทศ จะไม่นำ GDP มาเป็นตัวชี้วัดความเป็นอยู่ของประชาชน เพราะการเติบโตมางเศรษฐกิจทั้งหมดมาจากคนเพียง 20% ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงตัวชี้วัดจะทำให้การกำหนดนโยบายเศรษฐกิจหลงทางได้ จึงให้มีการกำหนดตัวชี้วัดใหม่ให้สะท้อนกับความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างแท้จริง
นายอภิสิทธิ์ ยังเทียบเคียงยุค รสช. กับ คสช. โดยมองว่าความพยายามในการออกแบบสถาปัตยกรรมการเมือง สะท้อนการเมืองกลับไปสู่ปี 2521 ที่ ส.ว. มีอำนาจเลือกนายกฯ แต่การได้เป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เกิดขึ้นจากพรรคการเมืองในขณะนั้นยินยอมและให้การสนับสนุน แต่ปัจจุบันความพยายามสืบทอดอำนาจมีเยอะ ซึ่งพรรคการเมืองจะต้องตระหนักและกอบกู้ศรัทธาประชาชนให้ประชาชนมีความไว้วางใจ เพราะวันนี้ความมั่นใจต่อผู้แทนประชาชนลดน้อยลง
ขณะที่นายสรอรรถ กลิ่นประทุม ประธานกรรมการที่ปรึกษาพรรคภูมิใจไทย เป็นตัวแทนนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคฯ ที่ติดภารกิจต่างจังหวัด ยืนยันว่า พรรคภูมิใจไทยจะส่งบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว คือ นายอนุทิน และหากได้รับเลือกให้ได้เป็นผู้บริหารประเทศ จะต้องแก้ปัญหาความขัดแย้งก่อนลำดับแรก และลดความเหลื่อมล้ำทางการเมือง จัดหาวิธีการให้เกษตรกรสามารถลืมตาอ้าปากได้ และมั่นใจว่าการได้นักการเมืองจากการเลือกตั้งจะช่วยให้เกิดการตรวจสอบได้
ส่วนอนาคตของพรรคภูมิใจไทยจะไปร่วมงานกับพรรคที่อาจจะเกี่ยวข้องกับคสช. หรือไม่นั้น นายสรอรรถ กล่าวว่า โดยส่วนตัวยังเห็นว่าเร็วเกินไปที่จะตอบ เพราะจะต้องรอความชัดเจนหลังการเลือกตั้ง แต่ยืนยันว่าพรรคภูมิใจไทยไม่มีปัญหาในการร่วมงานกับทุกพรรค ขอเพียงทุกอย่างต้องเป็นไปตามกติกาของการเลือกตั้ง และไม่ควรตีกรอบล่วงหน้าว่าจะไม่ทำงานกับพรรคนั้นพรรคนี้ เพื่อไม่ให้เกิดทางตันทางการเมือง และไม่จำเป็นว่าพรรคจะหวังเพื่อเป็นรัฐบาลเพียงอย่างเดียว ถ้าคิดแบบนั้นอย่ามาทำหน้าที่ส.ส.ดีกว่า
นายสรอรรถ ยังมองถึงการสานต่อการปฏิรูปประเทศว่า การวางกรอบปฏิรูป 20 ปี เป็นสิ่งที่ยาวนานมาก และการปรับเปลี่ยนแผนการปฏิรูปก็ยังทำได้ยาก แต่การปฏิรูปที่ควรเริ่มดำเนินการก่อน คือ การปฏิรูปด้านการศึกษา เพื่อยกระดับความรู้ของประชาชน
ส่วนแนวคิดการแก้รัฐธรรมนูญ และแผนยุทธศาสตร์ชาติในอนาคตนั้น นายสรอรรถ เห็นว่า เมื่อกติกาเป็นเช่นใดก็ต้องดำเนินการไปเช่นนั้น แต่เมื่อกติกาจำกัดก็ต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจว่ามีข้อจำกัด ไม่ควรนำมาเป็นข้ออ้างว่ากฎหมายมาเป็นตัวจำกัดทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้
นายสรอรรถ ยังมองสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างรสช. กับ คสช. ว่าเป็นการทำให้ระบบการเมืองหยุดชะงัก และด้วยเวลาที่ทอดยาวเกินไป ทำให้ประชาชนมองนักการเมืองว่าไม่น่าเชื่อถือ จึงเป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองและนักการเมืองจะต้องเรียกศรัทธากลับคืนมา และเชื่อว่ายังมีคนอีกกว่า 7 ล้านคนที่จะเป็นผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรก ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดสถานการณ์หลังการเลือกตั้ง ส่วนศรัทธานักการเมืองจะเรียกกลับมาได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการเลือกผู้สมัครของแต่พรรคการเมืองที่จะส่งลงสมัครเลือกตั้งในครั้งหน้าเพื่อให้ประชาชนได้ตัดสินใจ