หนึ่งในประเด็นสุดฮอตที่วิพากษ์วิจารณ์กันมาก คือ อนาคตทางการเมืองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่วางโรดแมพส่งต่อภารกิจให้กับรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นที่จับตาถึงการสืบทอดอำนาจ เป้าหมายจึงพุ่งตรงมาที่ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้า คสช.ว่าจะตัดสินใจอย่างไร จะเล่นการเมืองเพื่อเข้ามาสานต่องานที่ทำไว้หรือไม่ หรือจะวางมือออกไปพักผ่อนใช้ชีวิตหลังเกษียณ
อดีตนักการเมืองและพรรคการเมืองเกิดใหม่ดาหน้ากันออกมาประกาศสนับสนุนให้ "บิ๊กตู่"กลับมารั้งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอีกสมัย รวมไปถึงกระแสข่าวการส่งตัวแทนไปจัดตั้งพรรคการเมืองไว้รอให้คนของ คสช.เข้าไปสวมแทนที่เมื่อได้เวลาอันเหมาะสม รวมถึงกรณีมีข่าวคนในรัฐบาลเตรียมประสานตั้งพรรคการเมืองก็มีให้ได้ยิน
ถึงแม้ท่าทีของ "บิ๊กตู่" จะยืนยันอย่างแข็งขันมาโดยตลอดว่าไม่อยากเล่นการเมือง และขณะนี้ยังไม่ได้ตอบรับเข้าร่วมพรรคการเมืองใด แต่ระยะหลังกลับบอกว่าหากมีความจำเป็นหรือไม่ก็เป็นเรื่องของอนาคต โดยประชาชนจะเป็นผู้กำหนด ขณะที่คนรอบข้างที่เป็นรัฐมนตรีต่างปฏิเสธเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เคยคุยเรื่องการเมืองกับ "บิ๊กตู่" เลย และไม่ได้เตรียมการตั้งพรรคการเมืองไว้รองรับด้วย
*นักวิชาการ มองการเมืองไม่เป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย
นายสุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ระบุว่าแนวทางการเลือกตั้งที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ปูทางให้ พล.อ.ประยุทธ์ กลับมานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอีกสมัยอย่างแน่นอน โดยเปิดทางเลือกให้ตัดสินใจว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีตามบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอ หรือนายกรัฐมนตรีคนนอก ซึ่งขึ้นอยู่กับการตัดสินใจนาทีสุดท้ายว่าจะมั่นใจแนวทางใด
"รัฐธรรมนูญเปิดทางเลือกไว้ให้แล้ว ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจว่าจะรับเชิญไปเข้าร่วมกับพรรคไหน ซึ่งมีความเสี่ยงหากพรรคนั้นได้เก้าอี้ไม่ถึง 25 ที่นั่ง ขณะที่พรรคที่ประกาศตัวสนับสนุนก็ค่อนข้างกระจาย" นายสุขุม กล่าว
นายสุขุม กล่าวว่า ดูไปแล้วเหมือนเตรียมไว้เป็นการเฉพาะว่าจะให้ใครมาเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อมาสานต่องานที่ทำไว้ เพราะความกังวลว่าสถานการณ์บ้านเมืองจะกลับมาเกิดเหตุวุ่นวายอีกครั้งเหมือนในอดีต ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามครรลองในระบอบประชาธิปไตย
"เขาอาจคิดว่าจำเป็นต้องเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีเอง ซึ่งน่าจะเป็นความอยากมากกว่า เพราะหากเป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยแล้วไม่จำเป็น ทุกคนรักบ้านเมืองเหมือนกัน ช่วยรักให้น้อยๆ หน่อยจะดีกว่า" นายสุขุม กล่าว
*อดีตนักเคลื่อนไหวทางการเมืองแนะปฏิรูปการเมืองโฉมใหม่
นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวว่า พรรคการเมืองที่จะตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุน คสช. หรือ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องศึกษาบทเรียนจากในอดีต ที่สำคัญถ้าตั้งธงจะปฏิรูปประเทศกันหลังเลือกตั้งหรือสานต่องานปฏิรูปที่รัฐบาลชุดนี้ได้วางไว้
"พรรคการเมืองที่ คสช.สนับสนุนน่าจะมีความได้เปรียบกว่าทุกพรรค แต่การส่งสัญญาณดูด ส.ส.อาจจะกระทบภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือได้ เพราะประชาชนมองว่าเป็นวิธีเก่าๆ และเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการเมืองที่ผ่านมา" นายสุริยะใส กล่าว
นายสุริยะใส กล่าวว่า ความคาดหวังของประชาชนต่อพรรคการเมืองในการเลือกตั้งครั้งหน้า โดยเฉพาะพรรคขนาดใหญ่ที่มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลนั้นคงไม่มีใครอยากเห็นแต่ภาพนักการเมืองหน้าเดิมๆ สลับหน้ากันอยู่ในกลุ่มและเครือข่ายเก่าๆ เท่านั้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การเมืองล้มเหลว หาก คสช.คิดจะตั้งพรรคก็ต้องยอมรับว่าเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ตามรัฐธรรมนูญ แต่จะทำพรรคทั้งทีก็ควรมีอะไรใหม่ๆ มาเสนอประชาชนด้วย เพราะเดิมพันในสนามเลือกตั้งอาจไม่ง่ายอย่างที่คิด และอาจยากกว่าการทำรัฐประหาร
*"อภิสิทธิ์"ย้ำรัฐบาลต้องรักษาคำพูด ยึดมั่นกรอบเวลาตามโรดแมพ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การยึดอำนาจโดย คสช.ด้วยเหตุผลเป็นเรื่องของความจำเป็นที่จะต้องหยุดยั้งสถานการณ์ที่มีความวุ่นวาย สุ่มเสี่ยงต่อการเผชิญหน้าและความรุนแรง ระยะเวลาเกือบ 4 ปีที่ผ่านมาจะใช้คำว่าคุ้มก็ไม่ค่อยเหมาะเท่าไหร่เพราะไม่ใช่การลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทน สังคมก็มองไม่ออกว่าถ้าไม่หยุดสถานการณ์จะเดินหน้าไปอย่างไร
พอมาถึงวันนี้ก็ประเมินยากเพราะโจทย์เปลี่ยน ไม่คิดว่าจะยังอยู่ในสถานการณ์นี้ ไม่มีใครคิดว่าการรัฐประหารจะยาวอย่างนี้ และเมื่อเกิดการรัฐประหารเกิดขึ้นแล้วคนก็หวังว่าอะไรจะดีขึ้น แต่เอาเข้าจริงเรื่องการปฎิรูปทั้งหลายขยับได้น้อยมาก นายกรัฐมนตรีมาพูดเรื่องจะเร่งปฎิรูป 5 ด้านในบรรยากาศตอนนี้ก็บอกได้เลยว่าคนที่รอคอยการปฏิรูปไม่ได้คาดหวังอะไรแล้ว
ส่วนการปฎิรูปการเมืองบอกว่าจะต้องทำการเมืองให้ดีกว่าเดิม ก็ต้องนึกถึงการเมืองที่สุจริต ลดความขัดแย้ง ทำให้ประเทศเดินหน้า แก้ปัญหาประชาชนได้ แต่จากรัฐธรรมนูญและพฤติกรรมในขณะนี้ ตนเองมองว่าประชาชนไม่ได้คิดว่าจะดีขึ้น รวมทั้งรัฐบาลที่ขยับมาขอเป็นผู้เล่นทางการเมืองด้วย
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การขอเวลาในการทำงานของรัฐบาล ตรรกะนี้จะใช้ได้ถ้าสังคมมองเห็นว่าคนขอเวลาได้ใช้เวลาอย่างเต็มที่ มีความชัดเจน ทำให้เห็นว่าพยายามทำให้สำเร็จแต่มีอุปสรรค ซึ่งตนเองไม่ได้มองว่าขณะนี้เป็นอย่างนั้น กลับมองว่าสิ่งที่เคยพูดว่าจะทำ 4 ปีที่ผ่านมา เช่น การปฎิรูปตำรวจต้องมาตั้งต้นกันใหม่ตลอดเวลา ทำให้เกิดคำถามว่าผู้มีอำนาจมีความชัดเจนแค่ไหนว่าการปฎิรูป การเปลี่ยนแปลงการเมือง เป้าหมาย วิธีการคืออะไร ชวนสังคมให้มาร่วมคิด มาสนับสนุนแค่ไหน แต่ขณะนี้ไม่ได้เป็นอย่างนั้น กลายเป็นว่า ยังไม่เรียบร้อย ผู้มีอำนาจก็ขอที่จะทำไปเรื่อยๆ
"มันเหมือนเด็กทำวิทยานิพนธ์ ทำแล้วส่งงานไม่ทันแล้วมาขอยืดเวลาหน่อย ซึ่งอาจารย์ก็แบ่งได้ว่าเด็กบางคนไปทำเรื่องยากเกินไป เขาพยายามทำแล้ว ถ้ามีเวลาอีกสักนิดหน่อยเขาจะสำเร็จ และมีเด็กอีกประเภทที่อาจารย์ที่ปรึกษาดูแล้วว่าถึงต่อเวลาไปอีกกี่ปีก็ไม่เสร็จ หรือคุณภาพก็ไม่ได้ เปลี่ยนเรื่องเสียดีกว่า หรือเปลี่ยนคนทำก็อีกเรื่องหนึ่ง ผมก็ต้องบอกว่าอารมณ์ของคนทั่วไปในขณะนี้จะใกล้เคียงกับเด็กคนหลังมากกว่าคนแรก" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เราคงได้เลือกตั้งประมาณปีหน้า แต่จะเจาะจงว่าเดือน ก.พ.62 คงไม่มีใครกล้าพูดอย่างชัดเจน เพราะยังมีความไม่แน่นอนเรื่องกรอบเวลาเกี่ยวกับกฎหมายลูก และมีขั้นตอนที่เปิดให้เวลาขยับได้ ส่วนการเลือกตั้งต้องขยับออกไปอีกจะคุ้มหรือไม่ก็ต้องบอกว่าถ้าจะเลือกตั้งแล้วมีความไม่เรียบร้อย การขยับเพื่อให้เกิดความเรียบร้อยก็ต้องบอกว่ามีโอกาสที่จะคุ้ม แต่ขณะนี้ยังมองไม่เห็นว่าเกิดปัญหาอะไรที่ต้องมีการเลื่อนเลือกตั้ง และหากหัวหน้า คสช.เห็นว่าควรจะเลือกตั้งก็สามารถใช้อำนาจเพื่อจัดการให้เลือกตั้งตามกำหนดได้ก็จะดีกับทุกฝ่ายในแง่ความมั่นใจ ซึ่งตนเองไม่เคยเรียกร้องว่าต้องเลือกตั้งวันนี้ พรุ่งนี้ แต่การรักษาคำพูด การรักษาความน่าเชื่อถือของประเทศเป็นเรื่องสำคัญ
ถึงแม้รัฐบาล คสช.จะต้องหมดวาระการทำงานลง แต่ผลงานชิ้นโบว์แดงที่ทิ้งไว้เป็นมรดก คือ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนปฏิรูปประเทศ 13 ด้าน+2 เพิ่งอยู่ในระยะเริ่มแรกแล้วจะมีใครเข้ามาสานต่อให้เป็นไปตามเจตนารมย์ที่กำหนดไว้หรือไม่ หากปล่อยให้คนอื่นเข้ามาแล้วจะยอมสานต่อหรือไม่ คงเป็นเรื่องน่าคิดว่า คสช.จะเป็นจงอางหวงไข่ หรือจะปล่อยให้เสียของ
คงต้องรอดูกันต่อไปว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะยอมออกมาประกาศเต็มปากเต็มคำว่าจะลงสู่สนามการเมืองเต็มตัวได้วันไหน หรือจะรอเปิดตัวนาทีสุดท้ายเมื่อถึงวันยื่นบัญชีลงสมัครรับเลือกตั้ง