นิด้าโพล เผยผลสำรวจ "4 ปี คสช. กับการคืนความสุขให้คนในชาติ" พบว่าประชาชนส่วนใหญ่มีความสุขเท่าเดิม เพราะยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เมื่อเทียบกับผลการสำรวจ 3 ปี คสช. กับการคืนความสุขให้คนในชาติ พบว่าสัดส่วนของผู้ที่มีความสุขเท่าเดิมมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ขณะที่สัดส่วนของผู้ที่มีความสุขเพิ่มขึ้น มีสัดส่วนลดลง เช่นเดียวกับสัดส่วนของผู้ที่มีความสุขลดลงมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น โดยประเด็นที่ทำให้มีความสุขมากที่สุดคือการที่บ้านเมืองสงบเรียบร้อยไม่มีความวุ่นวายทางการเมือง ส่วนการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในภาพรวม ยังไม่ทำให้มีความสุข
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "4 ปี คสช. กับการคืนความสุขให้คนในชาติ" ระหว่างวันที่ 15-16 พฤษภาคม 2561 จากประชาชนทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,253 หน่วยตัวอย่าง โดยทำการสำรวจกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินและความสุขของคนในชาติ หลังจากครบรอบ 4 ปี ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
จากการสำรวจเมื่อถามถึงระดับความสุขของประชาชนในโอกาสครบรอบ 4 ปี ของ คสช. ในการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 46.85 ระบุว่า มีความสุขเท่าเดิม เพราะยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ชีวิตความเป็นอยู่ยังคงเหมือนเดิม การบริหารงานไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิม เศรษฐกิจและค่าครองชีพยังสูงเช่นเดิม รองลงมา ร้อยละ 27.69 ระบุว่า มีความสุขเพิ่มขึ้น เพราะไม่มีการชุมนุมและความวุ่นวายทางการเมือง บ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อยมากขึ้น คณะทำงาน คสช. มีความมุ่งมั่นและตั้งใจในการทำงาน ทำให้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันลดลง และร้อยละ 25.46 ระบุว่า มีความสุขลดลง เพราะ เศรษฐกิจปากท้องของประชาชนแย่ลง ค่าครองชีพสูง ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ การบังคับใช้กฎหมายหรือแก้ไขกฎหมายไม่ตรงจุด มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพมากเกินไป และขาดความมั่นคงทางประชาธิปไตย
เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจ 3 ปี คสช. กับการคืนความสุขให้คนในชาติ ที่ทำการสำรวจเมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 พบว่า สัดส่วนของผู้ที่มีความสุขเพิ่มขึ้น มีสัดส่วนลดลง (จากเดิม ร้อยละ 32.64 เป็นร้อยละ 27.69) ขณะที่สัดส่วนของผู้ที่มีความสุขเท่าเดิมมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น (จากเดิม ร้อยละ 42.00 เป็นร้อยละ 46.85) เช่นเดียวกับสัดส่วนของผู้ที่มีความสุขลดลงมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น (จากเดิม ร้อยละ 21.76 เป็นร้อยละ 25.46)
ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารราชการแผ่นดินครบรอบ 4 ปี ของ คสช. ในประเด็นต่าง ๆ ที่ทำให้มีความสุขมากที่สุด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 52.99 ระบุว่า เป็นเรื่องของบ้านเมืองสงบเรียบร้อยไม่มีความวุ่นวายทางการเมือง รองลงมา ร้อยละ 16.76 ระบุว่า ไม่มีประเด็นใดที่ทำให้มีความสุข ร้อยละ 9.66 ระบุว่า เป็นการมุ่งแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ร้อยละ 6.15 ระบุว่า เป็นการจัดระเบียบสังคม เช่น การจัดระเบียบทางเท้า การจัดระเบียบชายหาด ร้อยละ 4.95 ระบุว่า เป็นการแก้ไขปัญหาค่าครองชีพประชาชน ร้อยละ 3.11 ระบุว่าเป็นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในภาพรวม ร้อยละ 2.23 ระบุว่า เป็นการแก้ไขปัญหาอาชญากรรม ร้อยละ 2.00 ระบุว่า เป็นการแก้ไขปัญหาปากท้องเกษตรกร ร้อยละ 1.04 ระบุว่า เป็นการมีเสรีภาพมากขึ้น ร้อยละ 1.04 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ การแก้ไขปัญหาสวัสดิการของรัฐ การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และปัญหายาเสพติด และร้อยละ 0.08 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารราชการแผ่นดินครบรอบ 4 ปี ของ คสช. ในประเด็นต่าง ๆ ที่ยังไม่สามารถทำให้มีความสุข พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 30.81 ระบุว่า เป็นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในภาพรวม รองลงมา ร้อยละ 15.08 ระบุว่า เป็นการแก้ไขปัญหาปากท้องเกษตรกร ร้อยละ 11.89 ระบุว่า เป็นการแก้ไขปัญหาค่าครองชีพประชาชน ร้อยละ 11.49 ระบุว่า เป็นการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ร้อยละ 10.93 ระบุว่า ไม่มีประเด็นใดที่ไม่มีความสุข ร้อยละ 10.22 ระบุว่า เป็นการที่ยังไม่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ร้อยละ 3.11 ระบุว่า เป็นการแก้ไขปัญหาอาชญากรรม ร้อยละ 2.63 ระบุว่า เป็นการมีเสรีภาพที่ยังไม่เต็มที่ของสื่อมวลชน ร้อยละ 1.28 ระบุว่า เป็นการจัดระเบียบสังคม เช่น การจัดระเบียบทางเท้า การจัดระเบียบชายหาด และร้อยละ 2.55 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ การแก้ไขปัญหา ยาเสพติด สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง ความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันในสังคม การบังคับใช้กฎหมายในบางเรื่องที่เข้มงวดมากเกินไป การแก้ไขปัญหาของประเทศในบางเรื่องที่ยังไม่เป็นรูปธรรม ขณะที่บางส่วนระบุว่า เป็นการแก้ปัญหาระบบการศึกษา การปฏิรูปประเทศ และการปฏิรูปองค์กรตำรวจ