(เพิ่มเติม) ศาล รธน.ลงมติวินิจฉัยร่าง กม.ที่มา ส.ว.ไม่มีข้อความขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ-นัดลงมติกม.ลูกส.ส. 30 พ.ค.

ข่าวการเมือง Wednesday May 23, 2018 16:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนุญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ... มาตรา 91, มาตรา 92, มาตรา 93, มาตรา 94, มาตรา 95 และมาตรา 96 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาลใช้บังคับในวาระเริ่มแรกเท่านั้น ทั้งยังเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 จึงไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 ประกอบมาตรา 269

พร้อมกันนั้น ศาลรัฐธรรมนูญ ยังได้นัดวินิจฉัยและแถลงด้วยวาจา และลงติ ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ... มาตรา 35 (4) และ (5) มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 95 วรรคสามและร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ... มาตรา 92 วรรคหนึ่ง มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 85 หรือไม่ ตามที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวน 27 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ในวันที่ 30 พ.ค.นี้

ทั้งนี้ เอกสารแถลงผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนุญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ระบุว่า ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีหนังสือและส่งความเห็นของสมาชิก สนช.จำนวน 30 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 263 ว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ... มาตรา 91 มาตรา 92 มาตรา 93 มาตรา 94 มาตรา 95 และมาตรา 96 มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 หรือไม่

ข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า สมาชิก สนช.และคณะ รวม 30 เห็นว่าการที่ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว กำหนดในบทเฉพาะกาลในวาระเริ่มแรกของวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 269 ให้มีจำนวนกลุ่มผู้สมัคร วิธีการสมัคร และกระบวนการเลือก แตกต่างไปจากการได้มาซึ่งวุฒิสภาตามบททั่วไป มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 จึงเสนอผ่านประธานส สนช.มาให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มีข้อขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 หรือไม่

ผลการพิจารณา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นองค์คณะทุกคนได้ทำความเห็นส่วนตนเป็นหนังสือ พร้อมทั้งแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุม และได้ปรึกษาหารือร่วมกันแล้วลงมติ โดยมีมติเอกฉันท์ว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 จึงไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 ประกอบมาตรา 269

อนึ่ง ประเด็นที่ สนช.ยื่นตีความ 2 ประเด็นปัญหา คือ 1. วิธีการสมัครที่แบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ การสมัครด้วยตนเองและการสมัครด้วยการแนะนำจากองค์กร 2. การเลือกในระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ โดยให้ผู้สมัครแต่ละวิธีแยกกันเลือกเป็นบัญชี 2 ประเภท ทำให้ผลการเลือกไม่ใช่การเลือกกันเองระหว่างผู้สมัครทั้งหมด เพราะเป็นการแบ่งโควตาระหว่างผู้สมัครอิสระกับองค์กรแนะนำ องค์กรเป็นผู้กลั่นกรองก่อน ทำให้ประชาชนไม่สามารถเลือกสมัครได้อย่างเสรีทุกกลุ่ม จึงไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่มุ่งให้ผู้สมัครเลือกกันอย่างเท่าเทียมภายใต้กฎเดียวกัน และหากมีผู้ร้องเรียนภายหลัง จะทำให้การเลือกวุฒิสภาต้องเสียไปทั้งหมด

ทั้งนี้ การเลือก ส.ว.ตามรูปแบบของ สนช.ในมาตรา 92/1 บัญญัติให้ ส.ว.มีจำนวน 10 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง 2.กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม 3.กลุ่มการศึกษาและการสาธารณสุข 4.กลุ่มอาชีพกสิกรรม ปลูกพืชล้มลุก ทำนา ทำสวน ทำไร่ ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง 5.กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคลที่มิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ผู้ใช้แรงงาน ผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ 6.กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตกรรม 7.กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว 8.กลุ่มสตรี ผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ 9.กลุ่มศิลปวัฒนธรรม และ 10.กลุ่มอื่นๆ

ส่วนการสมัคร ส.ว. มาตรา 92/2 ได้บัญญัติรายละเอียดเกี่ยวกับการสมัครผ่านการเสนอชื่อจากองค์กรนิติบุคคลว่า มีสิทธิสมัครตามกลุ่มวิชาชีพได้เพียงกลุ่มเดียว รวมทั้งมีสิทธิสมัครได้เพียงอำเภอเดียว หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 5 ปี

ด้านองค์กรนิติบุคคลที่มีสิทธิเสนอชื่อบุคคลให้เป็น ส.ว.ได้ มาตรา 92/3 ระบุว่าต้องเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี และไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไรมาแบ่งปันกันหรือดำเนินกิจกรรมทางการเมืองและต้องได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ขององค์กรมาอย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ