นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน (คปก.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมฯ เมื่อวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมาได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ซึ่งมีสาระสำคัญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 133 (3) บัญญัติให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนเข้าชื่อเสนอกฎหมายตามหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หรือหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย และมาตรา 256 (1) บัญญัติให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้การยื่นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องมาจากคณะรัฐมนตรี หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรหรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคนตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ประกอบหมวด 16 ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ มาตรา 258 ค.ว่าด้วยการปฏิรูประเทศด้านกฎหมาย บัญญัติให้การปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายต้องดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายในการจัดให้มีกลไกการช่วยเหลือประชาชนในการจัดทำและเสนอร่างกฎหมาย
โดยปัจจุบัน พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.2556 เป็นกฎหมายรับรองสิทธิและกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชน แต่กฎหมายดังกล่าวยังไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเนื่องจากเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 จึงเป็นการสมควรพิจารณาการจัดทำกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันและสร้างกลไกการช่วยเหลือประชาชนในการจัดทำและเสนอร่างกฎหมายอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อรับรองสิทธิการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชนเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการตรากฎหมายซึ่งเป็นการให้อำนาจของประชาชนทางนิติบัญญัติและเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย ตามมาตรา 258 ค. (4) ของรัฐธรรมนูญ
โดยร่างกฎหมายดังกล่าวมีหลักการสำคัญใน 5 ประเด็นเพื่อการแก้ไขปัญหาอุปสรรคของการเข้าชื่อเสนอกฎหมายปี 2542 และ ปี 2556 ดังนี้
ประเด็นที่ 1 หมวด 2 การเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมาย กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนโดยจำแนกได้เป็น 2 กรณี คือ กรณีที่ 1 ประชาชนขอรับการสนับสนุนการช่วยเหลือการจัดทำและเสนอร่างกฎหมายทั้งกระบวนการ และกรณีที่ 2 ประชาชนได้มีการยกร่างกฎหมายและรวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าชื่อตามจำนวนที่กฎหมายกำหนดให้สามารถเสนอกฎหมายแล้วเพื่อเตรียมเสนอต่อประธานรัฐสภา
ประเด็นที่ 2 หมวด 3 การช่วยเหลือประชาชนในการจัดทำและเสนอร่างกฎหมาย กำหนดกลไกและกระบวนการช่วยเหลือประชาชนในการจัดทำและเสนอร่างกฎหมาย โดยให้มี 3 หน่วยงานให้ความช่วยเหลือประชาชนในการจัดทำและเสนอร่างกฎหมาย ได้แก่ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน และสถาบันพระปกเกล้า หรือหน่วยงานอื่นที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการช่วยเหลือการจัดทำร่างกฎหมายแก่ประชาชน และให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัด สามารถรับคำขอ ตรวจสอบ หรือให้การสนับสนุนหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนในการจัดทำและเสนอร่างกฎหมายได้ โดยหน่วยงานที่จะทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนในการจัดทำและเสนอร่างกฎหมายมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือในการศึกษาวิเคราะห์ทางวิชาการเพื่อประกอบการยกร่างกฎหมายและจัดทำเอกสารประกอบการเสนอร่างกฎหมาย รวมทั้งจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อนำมาประกอบการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบซึ่งต้องดำเนินการตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ประเด็นที่ 3 จัดให้มีระบบการเข้าชื่อเสนอกฎหมายด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ โดยกำหนดให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จัดทำระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ให้ประชาชนสามารถเข้าชื่อเสนอกฎหมายอย่างน้อยยืนยันตัวตนและเข้าชื่อเสนอกฎหมายผ่านระบบและกำหนดให้จัดทำระบบดังกล่าวให้เสร็จภายใน 2 ปี นับแต่กฎหมายนี้บังคับใช้
ประเด็นที่ 4 ปรับปรุงบทกำหนดโทษตามกฎหมาย เพื่อไม่ให้มีความซ้ำซ้อนกับโทษทางอาญาที่มีอยู่แล้ว โดยมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท ทั้งนี้เป็นอัตราโทษที่สอดคล้องกับประมวลกฎหมายอาญาในความผิดฐานปลอมเอกสาร
ประเด็นที่ 5 บทเฉพาะกาล กำหนดให้โอนเงินงบประมาณของกองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมืองตามกฎหมายว่าด้วยสภาพัฒนาการเมือง ให้แก่หน่วยงานตามพระราชบัญญัติฯ เพื่อเป็นงบประมาณสนับสนุนการช่วยเหลือประชาชนในการจัดทำและเสนอร่างกฎหมาย
"มติที่ประชุมฯ เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.... และให้เสนอต่อรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เพื่อพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป" นายบวรศักดิ์ กล่าว