บรรยากาศความคึกคักทางการเมืองที่ห่างหายกันไปนานมากกว่า 4 ปีกำลังตั้งตอรอความหวังจากคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ยิงปืนขึ้นฟ้าปลดล็อคให้ออกสตาร์ทครั้งใหม่ หลังจากกฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญกำลังจะทยอยประกาศบังคับใช้ออกมาเพื่อขับเคลื่อนโรดแมพไปสู่การเลือกตั้งรูปแบบใหม่ภายใต้ประชาธิปไตยฉบับ คสช.ตามที่นายกรัฐมนตรีลั่นวาจาไว้ว่าจะมีขึ้นในช่วงต้นปี 62
ขั้นตอนจากนี้นายวิษณุ เครืองาม มือกฏหมายรัฐบาล คาดว่าจะนำ 2 ร่างกฎหมายฉบับสำคัญที่ผ่านการตีตรารับรองครั้งสุดท้ายโดยศาลรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯก่อนปลายเดือน มิ.ย.นี้ หลังจากนั้นก็เดินหน้าตามโรดแมพเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 11 เดือน ซึ่งไม่มีทางเลื่อนโรดแมพออกไปได้อีกแล้ว เป็นสิ่งที่น่าจะทำให้พรรคการเมืองน่าจะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ที่จะได้เริ่มขยับเข้าใกล้การเลือกตั้งอีกก้าวหนึ่ง
ในคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 53/2560 ข้อ 8 ระบุว่า เมื่อมีการประกาศ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ ครม.แจ้ง คสช.พิจารณาแก้ไขหรือยกเลิก กฎหมาย ประกาศคำสั่ง คสช. หรือคำสั่งหัวหน้า คสช.อันเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการของพรรคการเมืองและรวมกันจัดทำแผนและขั้นตอนการดำเนินการทางการเมือง เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปตามรัฐธรรมนูญ โดยให้หารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และจะเชิญผู้แทนพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองต่างๆ เข้าหารือด้วยก็ได้ หรือพูดง่ายๆว่า หลังจากนี้จะมีเวทีที่แม่น้ำทั้ง 5 สายหารือร่วมกับทุกพรรคการเมือง
อย่างไรก็ตาม แม้ยังไม่มีการเทียบเชิญพรรคการเมืองต่างๆเข้าหารือ แต่หากจะหวังให้การหารือมีการประกาศวันเลือกตั้ง หรือปลดล็อกทางการเมือง คงเป็นเรื่องยาก เพราะนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้า คสช.ประกาศชัดเจนว่า หากจะหารือเพื่อกำหนดวันเลือกตั้งคงไม่ต้องพูดคุยกัน สามารถประกาศได้ทันที แต่การที่พบกันเพราะอยากจะให้มีการตกลงทำความเข้าใจกันว่าจะช่วยเดินหน้าประเทศกันอย่างไรไม่ให้อยู่ภายใต้บรรยากาศของความขัดแย้ง
"หัวข้อที่จะหารือจะมีประเด็นเรื่องการทำกิจกรรมพรรคการเมืองที่จะให้เป็นไปตามขั้นตอน พร้อมทั้งจะมีการหารือถึงกติกาการหาเสียงที่ต้องลดความขัดแย้ง และทุกคนต้องยอมรับผลการเลือกตั้ง"นายกรัฐมนตรี กล่าวเอาไว้
ส่วนรูปแบบการหารือยังไม่กำหนดชัดเจน แต่เริ่มมีเสียงเรียกร้องจากฝั่งการเมือง ทั้งอยากให้มีการถ่ายทอดสดการพูดคุย หรือ ที่จะเห็นตรงกันมากสุด คืออยากให้ คสช.ประกาศให้เสียงดังฟังชัดว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่กันแน่
โดยความเห็นจากนายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ที่ออกตัวชัดเจนว่า "ถ้าเรียกพรรคการเมืองมาพูดคุยแล้ว แต่ไม่สามารถระบุวันเลือกตั้งได้ชัดเจน อาจจะไม่เป็นไปตามเจตนารมย์ของพรรคการเมือง พร้อมทั้งเรียกร้องให้เจอกันครึ่งทางโดยให้รัฐบาลได้ปลดล็อกให้พรรคการเมืองได้ดำเนินกิจกรรมบางส่วนที่สามารถทำได้ ให้พรรคการเมืองได้เตรียมกำหนดกฎเกณฑ์ นโยบายพรรคเตรียมความพร้อมไปสู่การเลือกตั้ง เพราะหากช้าไปกว่านี้ พรรคการเมืองก็จะทำอะไรลำบาก ถ้าไม่อย่างนั้นก็ไม่ต้องคุยเลยก็ได้ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อระบบการเลือกตั้ง ที่อาจจะเกิดข้อผิดพลาดได้ เพราะกว่าจะรอให้กฎหมายเสร็จ ถึงจะเรียกพรรคการเมืองมาพูดคุยนั้น ผมมองว่ากว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้หมดแล้ว"
หากจะทำให้บรรยากาศการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย สิ่งที่เป็นจุดเริ่มต้นได้ดีคือ บรรยากาศในการหารือระหว่างแม่น้ำ 5 สายกับบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ เพราะถ้าหากนายกรัฐมนตรีเปิดใจรับฟังข้อเสนอจากพรรคการเมืองมากกว่าจะเสนอแต่แนวทางของตัวเอง เชื่อได้ว่าเมื่อถึงวันเลือกตั้งจริงๆ ทุกพรรคคงพร้อมเดินเข้าสู่สนามตามกติกาที่ คสช.ได้วางเอาไว้
อย่างไรก็ตาม หนึ่งในคำถามที่นายกรัฐมนตรี คงต้องเตรียมคำตอบเอาไว้เมื่อถึงวันหารือ นั่นก็คือ อนาคตทางการเมืองของตัวเอง แม้ที่ผ่านมายังไม่ยอมปริปากว่าจะลงเล่นการเมืองหรือไม่ แต่จากท่าทีการพบปะนักการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงลงพื้นที่ที่จังหวัดบุรีรัมย์ หรือการตั้งอดีต ส.ส.อย่างนายนายสนธยา คุณปลื้ม หัวหน้าพรรคพลังชล มาเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พูดได้เป็นการแสดงออกว่ามีความสนใจงานการเมืองไม่มากไม่น้อย
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย ตั้งข้อสังเกตได้อย่างน่าสนใจถึงอนาคตทางการเมืองของนายกรัฐมนตรีไว้ว่า "ทุกคนยินดีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะแสดงตัวให้เกิดความชัดเจนว่าจะเข้าสู่การเมือง ด้วยวิธีการที่เปิดเผยชัดเจน อย่างตรงไปตรงมา แสดงตัวมาเลยว่าสังกัดพรรคนี้ นักการเมืองที่เข้าสู่การเมืองก็ประกาศตัวชัดเจนว่าจะอยู่ตรงไหน ถึงแม้ว่า คสช.จะได้เปรียบหลายอย่างจากวิธีการที่อำพรางไว้ แต่ก็ควรเปิดเผยเพื่อความสง่างามในการกลับเข้ามาแล้วให้ประชาชนตัดสินใจเลือก" คำพูดที่คุณหญิงสุดารัตน์สะท้อนออกมาคงตรงใจกับนักการเมืองอีกหลายคน ซึ่งถือเป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรีต้องรับมือให้ได้
และเมื่อดูข้อมูลประกอบจากการสวนดุสิตโพลที่สำรวจความเห็นประชาชนเรื่อง"ประยุทธ์"เชิญพรรคการเมืองหารือกำหนดวันเลือกตั้ง พบว่าความเห็นส่วนใหญ่อยากให้มีการกำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจนมากถึง 52.25% อาจเป็นสิ่งบ่งบอกได้ว่าถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่รัฐบาลควรประกาศวันเลือกตั้งที่ชัดเจนและปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมการเมืองได้เต็มที่สักที
หากเป็นเช่นนั้น คงเห็นบรรยากาศการลงพื้นที่ การนำเสนอนโยบายของแต่ละพรรค และถือเป็นการนับถอยหลังเข้าสู่โหมดเลือกตั้งอย่างจริงจัง หลังจากประเทศไทยเว้นว่างจากการเข้าคูหาใช้สิทธิ์เลือกตั้งมามากกว่า 4 ปีแล้ว