สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) มูลนิธิสถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ เผยผลสำรวจเกี่ยวกับอนาคตของประชาชนกับอนาคตของประเทศไทยที่ต้องการมากที่สุด 29.0% ต้องการมีงานทำมั่นคง มีเงินพอค่าครองชีพ ไม่ถูกคนต่างด้าวแย่งอาชีพ รองลงมา 22.6% ต้องการให้บ้านเมืองสงบสุข ไม่วุ่นวาย ตามด้วย 17.3% ต้องการให้บ้านมืองมีระเบียบวินัย มีการบังคับใช้กฎหมายจริงจังต่อเนื่อง ควบคุมพฤติกรรมคนได้, 10.6% ต้องการข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตประจำวัน, 10.3% ต้องการให้มีทัศนคติที่ดีต่อกัน และ 10.2% ต้องการเป็นพลเมืองที่ดีต่อประเทศชาติ
สาเหตุที่ประชาชนต้องการมีงานทำมั่นคงเพราะเห็นว่าปัญหาคนว่างงานกระทบต่อความมั่นคง เนื่องจากทุกวันนี้คนไทยถูกแย่งอาชีพหลายอย่างที่เคยทำอยู่อย่างมั่นคงต่อเนื่องในอดีต โดยบางพื้นที่แรงงานต่างด้าวผันตัวเองมาเป็นเจ้าของค้าขายจำนวนมาก เช่น อาชีพค้าขายอิสระ ขายผักขายปลา ขายผลไม้ในตลาดสด อาชีพทำอาหาร ทำครัว ขายก๋วยเตี๋ยว ขายส้มตำ พนักงานคิดเงินตามร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า มหาวิทยาลัยต่างๆ คนไทยถูกผลักออกไปทำอาชีพอิสระไม่มั่นคง หาเช้ากินค่ำ ไม่พอค่าครองชีพ ตนไทยจำนวนมากหันไปขายของออนไลน์ก็ไม่มีหน่วยงานรัฐใดสนับสนุนส่งเสริม ชีวิตเป็นไปตามยถากรรม บางคนจึงไปเล่นพนัน หวังรวยทางลัด ค้ายาเสพติด ก่ออาชญากรรม หลอกลวงต้มตุ๋น ฉ้อโกง ติดคุกมีคดีติดตัว ขาดหน่วยงานรัฐดูแลชีวิตการงานของคนไทยให้มั่นคง จึงทำให้อันดับของความต้องการที่จะเห็นคนไทยมีงานทำมั่นคง มีเงินพอค่าครองชีพ ขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่ง
นอกจากนี้ประชาชนส่วนใหญ่ 64.0% เคยได้ยินคำว่า ยุทธศาสตร์ชาติ แต่ 54.9% ไม่รู้ว่ายุทธศาสตร์ชาติคืออะไร และส่วนใหญ่ 90.2% ระบุเป็นต้องมียุทธศาสตร์ชาติด้วยภาษาง่ายๆ ชาวบ้านจำได้ง่าย จะได้ช่วยกันปกป้องผลประโยชน์ชาติร่วมกันได้ดีขึ้น
"ที่ผ่านมาคนจัดทำยุทธศาสตร์ เขียนยุทธศาสตร์ชาติออกมาเยอะเกินไป โดยใช้ภาษาวิชาการห่างไกลตัวประชาชนและขาดกลยุทธ์ในการสื่อสารกับประชาชน ยิ่งไปกว่านั้นคนออกแบบยุทธศาสตร์มุ่งแต่ใช้อำนาจรัฐ (State Power) ทำให้เกิดการเน้นการใช้กองกำลังปฏิบัติการที่ใช้งบประมาณสูง แต่ลงทุนด้านการหาข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำน้อยมากในการออกแบบยุทธศาสตร์ และให้ความสำคัญน้อย เช่นกันกับอำนาจจากภาคประชาชน (Non-State Power) ทำให้ออกแบบยุทธศาสตร์ได้ไม่ดีพอ ขาดพลังจากฐานรากของประชาสังคมสนับสนุน ประเทศไทยจึงอยู่ในวังวนของปัญหาและเสียงเรียกร้องเดิมๆ ต่อไป" นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล กล่าว
ทั้งนี้ สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) มูลนิธิสถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ ได้สำรวจเรื่อง "ประชาชนคิดอย่างไรต่อยุทธศาสตร์ชาติ กับอนาคตของประชาชน และอนาคตของประเทศไทยที่ต้องการ" จากกลุ่มตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพ จำนวน 1,150 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 5-15 มิถุนายนที่ผ่านมา