นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย เปิดเผยผลการหารือระหว่างรัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และตัวแทนพรรคการเมืองทั้งเก่าและใหม่ว่า วันนี้ได้มีการหารือในเรื่องเกี่ยวกับการเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง ทั้งปัญหาและแนวทางที่จะเดินหน้าตามโรดแมพ
ส่วนการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นช้าหรือเร็วขึ้น อยู่กับปัจจัย 5 ข้อคือ 1. ความสงบเรียบร้อยในช่วงเวลาที่มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2.ช่วงเวลาที่จะได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กฎหมายลูกว่าด้วย ส.ส.และ ส.ว. 3.การผลัดเปลี่ยนคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าขณะนั้นเป็นชุดเดิมหรือชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ 4.การเลือกตั้งท้องถิ่นจะมีขึ้นเมื่อใดที่จะไม่ซ้ำซ้อนกับการเลือกตั้งทั่วไป 5.ความสงบเรียบร้อยของประเทศโดยรวม ซึ่งจะมีผลต่อการกำหนดวันเลือกตั้ง
ในการประชุมตัวแทนพรรคการเมืองได้สอบถามและบอกข้อเรียกร้องต่างๆ ให้รัฐบาล คสช.รับทราบ ในเรื่องหลักๆ คือ ข้อกังวลเกี่ยวกับการจัดประชุมใหญ่พรรค เพื่อหาสมาชิกและจัดทำไพรมารี่โหวต ซึ่งจะนำเรื่องดังกล่าวให้ คสช.พิจารณา เพื่อปลดล็อคให้พรรคการเมืองจัดประชุมได้ สำหรับดำเนินการในเรื่องที่ คสช.อนุญาต คือ เรื่องการหาสมาชิกพรรค จัดทำไพรมารี่โหวต
โดยข้อกังวลของพรรคการเมืองเกี่ยวกับหัวหน้าสาขาพรรค ที่จะต้องมาเป็นคณะจัดทำไพรมารี่โหวต คสช.จะปลดล็อคให้กรรมการบริหารพรรค 4 คนและสมาชิกพรรคอีก 7 คน สามารถจัดทำไพรมารี่โหวตได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีหัวหน้าสาขาพรรค นอกจากนี้ พรรคการเมืองยังมีการเสนอเกี่ยวกับไพรมารี่โหวต 3 ทางเลือก คือ 1.ให้คงไว้ แต่เปลี่ยนจากทำในระดับเขตเป็นระดับภาค 2.มีข้อเสนอให้คงไว้ แต่ไปใช้กับการเลือกตั้งครั้งหน้า และ 3.ข้อเสนอให้ยกเลิกการทำไพรมารี่โหวตไปเลย
นอกจากนี้ คสช.ได้กำหนดช่วงเวลาต่อจากนี้เป็น 3 ช่วงคือ 1.ช่วง 90 วันหลังทูลเกล้าฯ ร่างกฎหมาย โดยช่วงนี้จะไม่มีการดำเนินการใดๆ 2.ช่วง 90 วันที่สอง หลังกฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วและรอมีผลบังคับใช้ โดยช่วงนี้ แบ่งเป็น 60 วันให้ กกต.แบ่งเขตเลือกตั้ง และอีก 30 วันทำไพรมารี่โหวต ขณะเดียวกันก็อนุญาตให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมต่างๆได้ แต่ยังไม่ปลดล็อคให้ชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน และคาดว่านายกรัฐมนตรีจะใช้เวลาช่วงนี้หารือพรรคการเมืองรอบสองด้วย 3.ช่วง 150 วัน จะเป็นช่วงของการกำหนดวันเลือกตั้ง ซึ่งทาง กกต.เสนอให้กำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันอาทิตย์ และหากเป็นไปตามโรดแมพ โดยกำหนดวันเลือกตั้งได้เร็วที่สุด คือ 24 ก.พ.62 และช้าสุด คือ วันอาทิตย์ที่ 5 พ.ค.62 ตามกรอบ 150 วันที่รัฐธรรมนูญกำหนด แต่ที่สุดแล้วจะกำหนดเป็นวันใดถือเป็นอำนาจ กกต.ในขณะนั้นที่จะพิจารณาตามความเหมาะสม
"หลังกฎหมายลูกประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะมีการหารือกับพรรคการเมืองในลักษณะนี้อีกครั้ง โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งคาดว่าจะได้ความชัดเจนเกี่ยวกับวันเลือกตั้งและการปลดล็อคให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมทุกอย่างได้" นายวิษณุ กล่าว