"สวนดุสิตโพล" มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ กรณีผู้สมัคร ส.ส.ย้ายพรรค ยังคงเป็นประเด็นทางการเมืองที่น่าจับตามอง ในขณะที่หัวหน้าพรรคการเมืองบางพรรคก็ออกมายอมรับว่าเป็นเรื่องจริง ซึ่งการย้ายพรรคถือเป็นสิทธิของผู้สมัครที่ไม่อาจไปก้าวก่ายการตัดสินใจได้ เพื่อเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างสำรวจ จำนวนทั้งสิ้น 1,096 คน ระหว่างวันที่ 24 - 28 กรกฎาคม 2561
สรุปผลได้ว่าประชาชนคิดอย่างไร? กรณี ผู้จะสมัคร ส.ส.ย้ายพรรค อันดับ 1 สัดส่วน 47.04% เป็นเรื่องปกติทางการเมือง มีให้เห็นในช่วงเลือกตั้ง รองลงมา เห็นว่าถูกจับตามอง น่าจะเกี่ยวข้องกับการดูด ส.ส. 31.19%, เป็นสิทธิของผู้สมัครที่มีอิสระในการย้ายพรรค 30.28%, ทำให้ระบบพรรคการเมืองไม่เข้มแข็ง ต้องหาทางแก้ไข รับมือ 22.16% และประชาชนควรติดตามข่าวสาร เพื่อประกอบการตัดสินใจ 16.88%
ทั้งนี้เห็นว่าระหว่าง "ตัวผู้สมัคร ส.ส." กับ "พรรคการเมือง" ประชาชนให้ความสำคัญอะไรมากกว่ากัน อันดับ 1 เห็นว่าพอ ๆ กัน 38.69% เพราะการทำงานจะมีประสิทธิภาพต้องอาศัยทั้งตัวผู้สมัคร และพรรคการเมืองที่ร่วมมือกัน สำคัญทั้งคู่ ฯลฯ อันดับ 2 ตัวผู้สมัครมากกว่า 33.30%เพราะเป็นปากเสียงให้กับประชาชน เป็นผู้ปฏิบัติ รู้ปัญหาในพื้นที่ ทำงานใกล้ชิดประชาชน ฯลฯ อันดับ 3 พรรคที่สังกัดมากกว่า 28.01% เพราะถ้าพรรคเข้มแข็ง หัวหน้าพรรคดี มีนโยบายโดนใจ จะส่งเสริมการทำงานของผู้สมัครได้ดีขึ้น ฯลฯ
ในความคิดเห็นของประชาชน ทำไม? ผู้สมัคร ส.ส.จึงย้ายพรรค อับดับแรก 38.90% เป็นเรื่องผลประโยชน์ มองหาความมั่นคง และโอกาสที่ดีกว่า , 32.89% เห็นว่ามีความขัดแย้งภายใน พรรคไม่มีเสถียรภาพ, อุดมการณ์ แนวคิด ทัศนคติการทำงานไม่ตรงกัน 24.87%, ต้องการเปลี่ยนแปลง ลองหาประสบการณ์จากพรรคอื่น 19.52% และ ถูกชักชวน รู้สึกว่าได้รับความสำคัญ และการยอมรับ 15.64%
ถ้าผู้สมัคร ส.ส.ที่เคยเลือกเมื่อการเลือกตั้งครั้งที่แล้วย้ายพรรค ประชาชนจะยังเลือกผู้สมัครคนนี้อีกหรือไม่ อันดับ 1 ไม่แน่ใจ 50.91%เพราะคงต้องรอดูก่อนว่าย้ายไปพรรคไหน ใครเป็นหัวหน้าพรรค ดูนโยบาย พิจารณาจากหลายๆปัจจัย ฯลฯ , อันดับ 2 เลือก 27.28% เพราะดูที่ตัวบุคคล ชื่นชอบ มีผลงานดี เป็นคนเก่ง มีความสามารถ มีประสบการณ์ เข้าใจปัญหาในพื้นที่ ฯลฯ และอันดับ 3 ไม่เลือก 21.81% เพราะรู้สึกผิดหวัง ไม่เชื่อมั่น เหมือนเป็นคนขาดอุดมการณ์ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่า ฯลฯ