นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีที่มีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เตรียมเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พ.ศ.2560 เกี่ยวกับวิธีการเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งว่า การคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งควรเป็นอำนาจของ กกต.ชุดใหม่ และชุดปัจจุบันควบคู่กันไป โดย กกต.ชุดใหม่จะพิจารณาบุคคลที่ กกต.ชุดปัจจุบันเลือกมา แต่ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าผู้ตรวจการเลือกตั้งที่ปรากฏรายชื่อทั้ง 616 คน กกต.ได้คัดเลือกแล้วหรือยัง เพราะจากประกาศของ กกต.ระบุว่า เพื่อให้ทราบถึงแนวคิดและจะดำเนินการแต่งตั้งต่อไป ซึ่งหากยังไม่ได้เลือกเท่ากับว่า กกต.ชุดใหม่สามารถเข้ามาพิจารณาและแก้ไขได้ หากเห็นว่าไม่เหมาะสม
ส่วนการเสนอขอปรับแก้โครงสร้างของคณะกรรมการคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งใหม่ให้ยึดโยงกับจังหวัดนั้นเป็นเรื่องยาก
"ผู้ตรวจการเลือกตั้งถือเป็นมือไม้ของ กกต.ในการทำงานในรูปแบบที่ไม่ได้เป็นคณะกรรมการ เพื่อให้การทำงานเกิดความรวดเร็ว ซึ่งส่วนตัวยังไม่ทราบแนวทางการเสนอแก้ไขของ สนช.ครั้งนี้" ประธาน กรธ. กล่าว
ประธาน กรธ. ยังกล่าวถึงการแก้ไขกฎหมายลูก กกต.ว่า โดยพื้นฐานควรต้องสอบถามความเห็นจาก กกต.ด้วย เนื่องจากเป็นผู้เกี่ยวข้องโดยตรง เช่นเดียวกับตอนยกร่างกฎหมายนี้ กรธ.ก็ได้มีการเชิญ กกต.มาสอบถามความเห็น ในฐานะผู้มีประสบการณ์และพื้นฐานที่ดีกว่า ยกเว้นทางทฤษฎีที่เห็นไม่ตรงกันก็ต้องพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แต่หาก สนช.จะทำการเสนอกฎหมายเพียงฝ่ายเดียวก็สามารถทำได้ เนื่องจากเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติอยู่แล้ว และเรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหากไม่มีปัญหาข้อกฎหมาย ยกเว้น กกต.จะทักท้วง แต่เชื่อว่าในที่สุดก็จะมีทางออกในเรื่องนี้ได้ และไม่น่าจะมีผลกระทบต่อโรดแมพเลือกตั้งด้วย
ด้าน พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ยังไม่เห็นรายละเอียด และยังไม่ทราบว่าสุดท้าย สนช.จะแก้ไขอย่างไรบ้าง ดังนั้นหากกฎหมายใหม่ที่จะแก้ยังไม่มาก็ต้องเดินหน้าดำเนินการตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.ที่มีอยู่ ซึ่งได้มีการออกระเบียบที่เกี่ยวข้องมาแล้ว โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการติดประกาศรายชื่อผู้ตรวจการเลือกตั้งไว้ที่จังหวัด เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบคุณสมบัติ และความเป็นกลางทางการเมือง ซึ่งกระบวนการคัดสรรผู้ตรวจการเลือกตั้งจะเสร็จสิ้นและประกาศได้ต้นเดือนกันยายน
"เหตุที่ต้องเดินหน้าต่อไปเพราะ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.มีผลบังคับใช้เลย จึงจำเป็นต้องมีผู้ตรวจการเลือกตั้ง เมื่อคัดสรรแล้วยังจะต้องมีการอบรมถึงการทำงานต่าง ๆ รวมทั้งการรายงานเรื่องการร้องทุจริต"
หากมีการแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.ในประเด็นผู้ตรวจการเลือกตั้งดังกล่าวก็เชื่อว่า สนช.จะพิจารณาด้วยความรอบคอบ เพราะผู้ตรวจการเลือกตั้งถือเป็นเครื่องมือของ กกต.ที่มีหน้าที่จัดการเลือกตั้ง ขณะที่สำนักงานเลขาธิการ กกต.มีหน้าที่สนับสนุนอำนวยความสะดวกให้การเลือกตั้ง ดังนั้นหากไม่มีผู้ตรวจการเลือกตั้งแล้วเกิดการทุจริตเกิดขึ้นก็ต้องถือเป็นจุดบกพร่องในการทำงานเลือก ส.ว. เพราะเป้าหมายของการมีผู้ตรวจการเลือกตั้งก็เพื่อให้การจัดการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสุจริตเที่ยงธรรม
นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ สมาชิก สนช.ในฐานะผู้รวบรวมรายชื่อ สนช.เสนอแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ กกต.เกี่ยวกับที่มาของผู้ตรวจการเลือกตั้ง กล่าวว่า กรณีหลายฝ่ายไม่เห็นด้วยกับการเสนอขอแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าวนั้นก็ไม่เป็นไร เพราะเป็นการทำตามหน้าที่ท้วงติงในสิ่งที่เห็นว่าไม่รัดกุม เพราะการให้ กกต.ไปออกระเบียบคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งเอง มีโอกาสถูกการเมืองครอบงำได้ในอนาคต จึงควรระบุที่มาของการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งให้ชัดเจนลงไปกฎหมายลูกโดยตรงจะเหมาะสมกว่า
นายมหรรณพ กล่าวว่า ไม่ได้ต้องการเซ็ตซีโร่ผู้ตรวจการเลือกตั้ง 616 คนที่ กกต.ชุดปัจจุบันเห็นชอบมาทั้งหมด แต่ใครที่มีคุณสมบัติเหมาะสมยังมีสิทธิที่จะกลับมาใหม่ได้ ถ้ามีคุณสมบัติเข้าข่ายก็ควรให้ กกต.ชุดใหม่คัดเลือก ส่วนที่กรธ. ระบุเป็นการแก้ไขกฎหมายลูกแบบเข้ารกเข้าพงนั้นตนเองไม่ขอตอบโต้ แต่ยืนยันท้วงติงเพื่อให้เกิดความรอบคอบ ส่วนที่ กกต.ยืนยันจะไม่ทบทวนรายชื่อผู้ตรวจการเลือกตั้ง 616 คนที่เห็นชอบไปแล้ว เพราะดำเนินการถูกต้องตามระเบียบกฎหมายนั้น นายมหรรณพ กล่าวว่า แม้ กกต.ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย แต่ทำผิดมารยาท
"เหมือนคนเป็นอธิบดีจะเกษียณอายุในสิ้นเดือนกันยายน แต่รีบแต่งตั้งข้าราชการในเดือนสิงหาคม ถามว่าเหมาะสมหรือไม่ ทั้งที่โดยมารยาทต้องให้คนใหม่เป็นผู้เลือก ...กกต.ชุดเก่าจะไปลุกลี้ลุกลนเลือกทำไม ทั้งที่ กกต.ชุดใหม่ได้รับความเห็นชอบ เตรียมจะเข้ามาทำงานแล้ว เหตุใดไม่ให้ กกต.ชุดใหม่เป็นผู้เลือก" นายมหรรณพ กล่าว