ประเมินผลเลือกตั้ง'50 ปชป.จับขั้วโดดเดี่ยวพปช.-ลุ้นเสถียรภาพรัฐบาลใหม่

ข่าวการเมือง Wednesday December 19, 2007 11:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          โอกาสที่แกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธ.ค.นี้ อาจไม่ใช่พรรคการเมืองที่มีคะแนนเป็นอันดับหนึ่ง ขึ้นอยู่กับใครจะรวบรวมเสียงได้มากกว่ากัน เชื่ออดีตพรรคร่วมฝ่ายค้าน ทั้งพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.)และพรรคชาติไทย(ชท.)จะผนึกกำลังกัน หรือรวมกับพรรคการเมืองอื่นจัดตั้งเป็นรัฐบาลผสม โดดเดี่ยวพรรคพลังประชาชน(พปช.) ขณะที่กลิ่นไอของการรัฐประหารยังไม่หมดไปง่ายๆ
"พรรคการเมืองทั้งหลายคงจะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล โดยไม่ยินดีที่จะไปร่วมสังฆกรรมกับพลังประชาชน ยกเว้นพลังประชาชนจะได้คะแนนเกินครึ่ง(240 ที่นั่ง) แต่ถ้าได้น้อยกว่าครึ่งโอกาสในการจัดตั้ง(รัฐบาล)คงน้อย ที่เหลือคงจับมือกันจัดตั้งรัฐบาล ท่าทีของพลังประชาชนขณะนี้ พรรคการเมืองทั้งหลายคงไม่แฮปปี้ที่จะไปจับมือด้วย"นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีต ส.ส.ร.กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายเจิมศักดิ์ มองว่า ถึงแม้ พปช.อาจได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ก็เชื่อว่าจะขาดเสถียรภาพและอยู่ได้ไม่เกิน 6 เดือน เนื่องจากมีวาระซ่อนเร้น เช่น ภารกิจนำพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลับบ้าน, การนิรโทษกรรม 111 อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย, ความพยายามที่จะแทรกแซงกระบวนการตรวจสอบคดีทุจริตต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐบาลชุดก่อน
"ถ้าพลังประชาชนเป็นรัฐบาล ผมว่าอยู่ได้ไม่เกิน 6 เดือน แต่โอกาสเป็น(รัฐบาล)คงไม่มาก เพราะคงทำตามวาระซ่อนเร้น ซึ่งในที่สุดก็จะโดนกระแสต่อต้าน เพราะว่าคนไม่เชื่อใจตั้งแต่ต้นแล้ว ก็จะถูกจับตาดูอย่างหนัก" นายเจิมศักดิ์ กล่าว
ขณะเดียวกันหากกลุ่มการเมืองขั้วตรงข้าม พปช.ได้เป็นรัฐบาลคงมีอายุที่ยาวกว่า แต่จะอยู่ได้นายแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับผลงานและพฤติกรรมหลังจากเข้ามาเป็นรัฐบาลแล้ว คงไม่มีใครไปล้มล้างยกเว้นจะสะดุดขาตัวเอง
"อยู่ที่การทำตัว คงไม่มีใครไปล้มได้ ยกเว้นตัวเค้าเองที่จะล้มตัวเอง อยู่ที่การทำตัวของคนในพรรคร่วม ถ้าทำตัวดีฝ่ายค้านคงทำอะไรได้ลำบาก" นายเจิมศักดิ์ กล่าว
นายเจิมศักดิ์ ยังมองว่า ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองยังมีความเป็นไปได้ที่จะมาจากอำนาจนอกเหนือประชาธิปไตย แม้ที่ผ่านมา พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก จะออกมาประกาศชัดเจนแล้วว่าจะไม่ทำการรัฐประหารไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม แต่ทุกอย่างก็ยังเป็นไปได้
"เป็นไปได้ ถ้าพลังประชาชนจัดตั้งรัฐบาล ก็อย่าทิ้งอำนาจของผู้ที่เคยยึดอำนาจก็แล้วกัน ไม่มีใครวางมือกันง่ายๆ...เรื่องประกาศก็ประกาศกันทั้งนั้น สมัยไหนก็พูดกันอย่างนี้ เขาจะบอกว่าจะปฏิวัติไหมล่ะ มันก็เหมือนกับเรื่องลดค่าเงินบาท ไม่มีใครพูดก่อนหรอก" นายเจิมศักดิ์ กล่าว
*ลุ้นเสถียรภารัฐบาลผสมหลังเลือกตั้ง
นักวิชาการชี้ระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 มีผลให้รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธ.ค.นี้ต้องเป็นรัฐบาลผสมอย่างแน่นอน เพราะพรรคการเมืองขนาดใหญ่จะไม่ได้เปรียบในการเลือกตั้งเหมือนในอดีต โดยคาดว่าพรรคการเมืองที่จะได้รับเลือกตั้งไม่น่าจะต่ำกว่า 7 พรรค
"ไม่มีพรรคการเมืองใดที่มีโอกาสได้รับเลือกตั้ง 241 ที่นั่ง ต้องเป็นรัฐบาลผสมแน่นอน...พรรคการเมืองขนาดใหญ่จะไม่ได้ประโยชน์จากการเลือกตั้งในระบบนี้ คนที่ได้รับเลือกตั้งไม่จำเป็นต้องได้ที่ 1 อย่างเดียว" นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว
หลังจากคณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคไทยรักไทย(ทรท.) แกนนำกลุ่มต่างๆ ได้แยกย้ายออกมาตั้งพรรคการเมืองใหม่ ได้แก่ พรรคประชาราช(ปชร.), พรรคมัชฌิมาธิปไตย(มฌ.), พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา(รช.), พรรคเพื่อแผ่นดิน(พผ.) รวมถึงย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชาชน(พปช.) ทำให้คาดว่า ผู้ที่จะได้รับเลือกตั้งในวันที่ 23 ธ.ค.นี้จะกระจายไปอยู่ตามพรรคต่างๆ ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาล
"ชาติไทยรวมกับประชาธิปัตย์แล้วผมก็เชื่อว่าไม่ถึง(241 ที่นั่ง) ตัวชี้ขาดว่าใครจะเป็นรัฐบาลขึ้นอยู่กับตัวแปรที่เป็นพรรคการเมืองขนาดกลางซึ่งแตกออกมาจากพรรคไทยรักไทย" นายปริญญา กล่าว
นายปริญญา มองว่า แนวโน้มพรรคการเมืองที่จะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลน่าจะเป็นอดีตพรรคร่วมฝ่ายค้ายเดิม คือ ปชป.และ ชท.มากกว่า แต่ก็ไม่ได้ปิดทางที่พรรคขนาดกลางจะไปร่วมกับ พปช.เพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรองหลังผลเลือกตั้งออกมาแล้ว
"รัฐบาลในระบบรัฐสภาก็ต้องมีการต่อรองกันว่าใครจะได้กระทรวงไหน ใครจะเป็นนายกฯ รัฐบาลจะมีอายุยาวเพียงใด ต่อให้ได้เสียงถึงตำแหน่งดีแต่ดูแล้วอยู่ได้ปีเดียว ซึ่งมีเรื่องที่ต้องคำนึงถึงเยอะ" นายปริญญา กล่าว
นายปริญญา มองว่า การที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) วางกฎกติกาที่เข้มงวดมากเกินที่กฎหมายกำหนดกลับเป็นประโยชน์ต่อ พปช.แต่เกิดผลกระทบโดยตรงกับ พผ. และ รช. เนื่องจากแกนนำพรรคเป็นอดีตกรรมการบริหาร ทรท.ที่ถูกตัดสิทธิเลือกตั้ง
"ประโยชน์จริงๆ ไม่ได้ตกกับประชาธิปัตย์อย่างเดียวตามที่พูดกัน ผลมันสะท้อนกลับมาให้พรรคเพื่อแผ่นดินและรวมใจไทยชาติพัฒนาที่จะเข้าไปเบียดพื้นที่ของพลังประชาชนในภาคอีสานเสียประโยชน์ ผลกระทบไม่ได้เกิดกับพลังประชาชนแต่เกิดกับพรรคที่เป็นตัวแปร" นายปริญญา กล่าว
ส่วนสถานการณ์ทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง นายปริญญา กล่าวว่า น่าจะมีเสถียรภาพมากขึ้น แม้ว่า พปช.จะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก็ไม่น่าจะมีกลุ่มบุคคลออกมาเคลื่อนไหว
"ตอนนั้นที่มีการประท้วงเพราะมีการขายหุ้นโทรคมนาคมให้เทมาเส็ก ถ้าพลังประชาชนกลับเข้ามาแล้วไปประท้วงคงไม่ได้ แต่เป็นรัฐบาลแล้วมีการกระทำไม่ถูกต้องก็อีกเรื่องหนึ่ง ไม่เช่นนั้นบ้านเมืองจะเดินหน้าได้อย่างไร" นายปริญญา กล่าว
*อดีตพันธมิตรฯ ประเมินการเมืองหลังเลือกตั้งยังไม่นิ่ง
ขณะที่เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.)ประเมินสถานการณ์ทางการเมืองหลังการเลือกตั้งยังไม่นิ่ง ไม่ว่าพรรคการเมืองใดจะเข้ามาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก็จะมีสภาพอ่อนแอ ยกเว้นสามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ คลี่คลายความขัดแย้งในสังคม และสามารถขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าได้
"มีโอกาสเป็นไปได้ที่ความวุ่นวายจะเกิดขึ้นหลังเลือกตั้ง เสถียรภาพทางการเมืองยังไม่มีความแน่นอน"นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการ ครป. กล่าว
เลขาธิการ ครป. กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถชี้ชัดลงไปได้ว่าพรรคการเมืองใดจะชนะการเลือกตั้ง ซึ่งจะเป็นการแข่งขันระหว่าง ปชป.กับ พปช.ที่เชื่อว่าจะเป็นไปค่อนข้างสูสี โดยมีพรรคการเมืองขนาดกลางเป็นตัวแปร
"ตอนนี้ยังประเมินไม่ขาด ค่อนข้างสูสีระหว่างพรรคนอมินีของอำนาจเก่า คือ พรรคพลังประชาชนกับพรรคการเมืองขั้วตรงกันข้าม เชื่อว่าชัยชนะระหว่างพลังประชาชนกับประชาธิปัตย์จะไม่ขาด" นายสุริยะใส กล่าว
หากพปช.เข้ามาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ผู้ที่เคยร่วมเคลื่อนไหวในนามพันธมิตรประชาชนฯ ก็คงไม่สบายใจ เพราะเกรงว่าจะมีการเข้าไปรื้อกระบวนการตรวจสอบความผิดรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ , การดำเนินการเพื่อนิรโทษกรรมอดีตกรรมการบริหารพรรค ทรท.รวมถึง พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัว ซึ่งมีโอกาสทำให้เกิดการชุมนุมเดินขบวนได้
แต่ในทางตรงกันข้ามหาก ปชป.ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล พปช.ก็คงเล่นบทฝ่ายค้านในลักษณะดุดันรุนแรงควบคู่กันไปทั้งในและนอกสภา โดยในสภาคาดว่า พปช.จะมีสมาชิกที่เป็นอดีตนักการเมืองฝีปากกล้าหลายคน อีกทั้งเงื่อนไขการตรวจสอบรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญปี 50 เปิดช่องทางให้ทำได้ง่ายขึ้น ส่วนนอกสภาก็ยังมีกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ(นปก.)ที่สามารถเคลื่อนไหวได้อีก
นายสุริยะใส กล่าวอีกว่า หากกระบวนการยุติธรรมสามารถชี้ขาดความผิดของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ข้อยุติแล้วอย่างใดอย่างหนึ่งปัญหาน่าจะคลี่คลายลง แต่ถ้าเรื่องยังคาราคาซังอยู่ก็จะมีการกล่าวหากันไปมา ซึ่งอาจนำไปสู่การรัฐประหารอีกครั้งก็ได้
"อาจเปิดช่องให้ทหาร ให้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญเข้ามามีบทบาท เพราะยังอยู่ในเงื่อนปมที่อำนาจทหารสามารถเข้ามาได้ตลอดเวลา" นายสุริยะใส กล่าว
*ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจเตือนหมดเวลาพูด ถึงคราวต้องลงมือจริงจังแล้ว
ด้านผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจแนะนักการเมืองควรเร่งสร้างความปรองดองในชาติ เพื่อทำให้การเมืองมีเสถียรภาพซึ่งย่อมจะส่งผลดีต่อการพัฒนาประเทศ เพราะจะเป็นพื้นฐานในการสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุน
"ใครก็ได้ที่ตั้งใจทำงาน ตอนนี้ไม่ใช่เวลาที่จะมาใช้โวหารกันแล้ว บ้านเมืองต้องการคนแก้ปัญหาได้จริงในระยะเวลาสั้นๆ ตั้งใจจริง ทุ่มเท เพราะปัญหาของประเทศไทยในขณะนี้เข้าขั้นวิกฤติในหลายจุดแล้ว" นายวรพล โสคติยานุรักษ์ รองประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สป.) กล่าว
หลังจากรัฐบาลกำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธ.ค.นี้แล้วช่วยให้เกิดความชัดเจนทางการเมืองในระดับหนึ่งซึ่งจะสร้างผลดีต่อการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและนอกประเทศ แต่การพัฒนาทางเศรษฐกิจจะก้าวหน้าได้มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับนโยบายของพรรคการเมืองที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาล ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเป็นรัฐบาลผสม
นายวรพล กล่าวว่า มีปัญหามากมายหลายเรื่องที่รอรัฐบาลใหม่เข้ามาแก้ไข โดยเรื่องเร่งเด่นที่ต้องรีบดำเนินการ ได้แก่ การดำเนินโครงการลงทุนขนาดใหญ่(เมกะโปรเจ็คท์) เพื่อกระตุ้นการลงทุนในประเทศ ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยขับเคลื่อนการลงทุนภาคเอกชนให้เกิดขึ้นตามมา, การแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน, การฟื้นฟูความเชื่อมั่นทั้งในและนอกประเทศ, การแก้ปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ ความยากจน การศึกษา, การลงทุนเกี่ยวกับโครงสร้างสาธารณูปโภค, การแก้ปัญหาพลังงานขาดแคลน, การแก้ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ เป็นต้น ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่ต้องใช้ระยะเวลาในการแก้ปัญหา
นอกจากนี้ ยังมีการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน, การแก้ปัญหาประชากรสูงวัยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น, การศึกษาเรื่องการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์, การศึกษาเรื่องการดัดแปลงพันธุกรรม(GMO)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ