นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณีที่สมาชิก สนช.เข้าชื่อเพื่อเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประเด็นผู้ตรวจการเลือกตั้งว่า ขณะนี้อยู่ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ที่จะมีไปจนถึงวันที่ 18 ส.ค. แต่เบื้องต้นได้รับรายงานว่ามีการจัดตั้งกลุ่มเข้ามาโหวตไม่เห็นด้วย ทำให้ผลคะแนนมากถึง 94% ซึ่งขณะนี้ได้มอบหมายให้ฝ่ายเทคนิคตรวจสอบแล้ว
อย่างไรก็ตาม สนช.จะไม่รับฟังความเห็นผ่านเว็บไซต์ช่องทางเดียว แต่จะวิเคราะห์ศึกษาอย่างละเอียดว่ามีความจำเป็นต้องแก้ไขหรือไม่ โดยเฉพาะข้อมูลการตรวจสอบประวัติว่าที่ผู้ตรวจการเลือกตั้งทั้ง 616 คนที่ กกต.คัดเลือกไว้แล้วว่ามีความไม่เป็นกลางทางการเมืองหรือไม่ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณา
"การจะเดินหน้าหรือไม่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) แต่ยืนยันว่าการแก้ไขครั้งนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจนและไม่มีปัญหาในอนาคต ซึ่ง สนช.จะไม่ให้กระทบต่อโรดแมพเลือกตั้งอย่างแน่นอน"นายสุรชัย กล่าว
ด้านนายสมชาย แสวงการ เลขานุการวิป สนช. เปิดเผยว่า จากการพูดคุยกับนายมหรรณพ เดชวิทักษ์ สนช.ผู้เสนอขอแก้ไขกฎหมายฉบับดังกล่าว ได้รับคำยืนยันว่าจะเดินหน้าแก้ไขต่อไป ทำให้ต้องรับฟังความเห็นอย่างรอบด้าน ซึ่งจะถอยหรือไม่ต้องพิจารณาร่วมกันอย่างรัดกุม แต่ผู้เสนอกฎหมายก็มีสิทธิจะถอนร่างตอนนี้ได้ และจากความเห็นของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. และนายกรัฐมนตรี ก็ให้ความเห็นว่ายังมีทางออกอื่น เช่น การออกระเบียบแก้ไขภายในของ กกต.
ทั้งนี้ สนช.ยังพิจารณาถึงประเด็นการแก้ไขกฎหมายด้วยว่า หากแก้ไขได้ง่ายอาจเป็นบรรทัดฐานที่ไม่ถูกต้องให้กับสภาในอนาคต แต่หากยังเดินหน้าต่อไปก็เชื่อว่าจะไม่กระทบโรดแมพเลือกตั้ง เพราะการแก้ไขตอนนี้ยังมีเวลาเพียงพอ และแม้ว่าร่างแก้ไขยังไม่ผ่าน กระบวนการเลือกตั้งยังสามารถเดินหน้าตามกฎหมายเดิม อย่างไรก็ตาม จะนำผลวิเคราะห์และข้อสังเกต หารือกับผู้เสนอร่างกฎหมายให้พิจารณาว่าจะเดินหน้าหรือถอนร่างอีกครั้ง
ส่วนผลการเปิดรับฟังความเห็นผ่านเว็บไซต์นั้น นายสมชาย กล่าวว่า ผลดังกล่าวมีกระบวนการจัดตั้งเข้ามาโหวตไม่เห็นด้วยสูงถึง 94% โดยพบว่าเป็นยอดที่เพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติในเวลาเพียง 7 ชั่วโมง และในระหว่างนั้นไม่มีผู้โหวตเห็นด้วยเลยสักราย ซึ่งเป็นไปไม่ได้ พร้อมสั่งให้มีการตรวจสอบและประสานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อหาข้อมูลว่าเป็นการกระทำของผู้ไม่หวังดี หรือคนกลุ่มใด
อย่างไรก็ตาม ผลโหวตดังกล่าวยังไม่ใช่ข้อยุติ เพราะจะต้องรับฟังความเห็นจากนักการเมือง กกต. และสำนักเลขาธิการ กกต.ในฐานะฝ่ายปฏิบัติด้วย