นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทย (Thai CSI) เดือน มิ.ย.61 พบว่า ดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทยโดยรวมอยู่ที่ระดับ 55 ดีขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อนในเดือน ธ.ค.60 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 52 ส่วนดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทยในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 54 ดีขึ้นจากครั้งก่อน ซึ่งอยู่ที่ระดับ 51 และดัชนีแนวโน้มสถานการณ์คอร์รัปชันไทยในอนาคตอยู่ที่ระดับ 57 ดีขึ้นจากครั้งก่อน ซึ่งอยู่ที่ระดับ 53
ส่วนดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทย 4 หมวด พบว่า ดัชนีปัญหาและความรุนแรงของการคอร์รัปชัน อยู่ที่ระดับ 48 ดัชนีการป้องกันการคอร์รัปชัน อยู่ที่ระดับ 54 ดัชนีการปราบปรามการคอร์รัปชัน อยู่ที่ระดับ 55 และดัชนีการสร้างจริยธรรมและจิตสำนึก อยู่ที่ระดับ 64 ซึ่งดัชนีทุกรายการปรับตัวดีขึ้นจากผลสำรวจในเดือนธ.ค.60
"สถานการณ์มีแนวโน้มดีขึ้น และประชาชนร่วมมือตรวจสอบในการแก้ไขปัญหาได้ดีขึ้น การวางแนวทางป้องกันและปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันทำได้ดีขึ้น แต่สถานการณ์แม้ว่าดีขึ้น ก็จะต้องเดินหน้าแก้ปัญหาต่อไป และสิ้นปีนี้ ทางมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจะมีการสรุปภาพรวมอีกครั้ง" นายธนวรรธน์ระบุ
อย่างไรก็ดี การสำรวจดัชนี CSI ในเดือนมิ.ย.61 นี้ อยู่ในช่วงการแก้ไขปัญหาเงินทอนวัด, การออก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 จึงทำให้กลุ่มตัวอย่างมีความรู้สึกดีขึ้นต่อการเอาจริงเอาจังในการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน แต่ผลการสำรวจในครั้งนี้ ยังไม่รวมสถานการณ์ปัญหาการจัดซื้อดาวเทียมทีออส 2 วงเงิน 7,000 ล้านบาทของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA)
ทั้งนี้ผลสำรวจสถานการณ์ด้านการคอร์รัปชันในประเทศไทยช่วงเดือน มิ.ย.61 จากกลุ่มเป้าหมายทั้งภาคประชาชน, ภาคเอกชน และภาครัฐ รวมทั้งหมด 2,400 ตัวอย่าง ในประเด็นความรุนแรงของปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในปัจจุบันเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 42% ตอบว่ายังเท่าเดิม ขณะที่ 35% ตอบว่าลดลง ส่วนที่เหลืออีก 23% ตอบว่าเพิ่มขึ้น ขณะที่คาดการณ์แนวโน้มความรุนแรงของปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในปีหน้า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 40% มองว่าจะลดลง ขณะที่ 23% มองว่าจะเพิ่มขึ้น และอีก 22% มองว่าเท่าเดิม ส่วนที่เหลืออีก 15% ไม่มีความเห็น
พร้อมกันนี้ กลุ่มตัวอย่างยังระบุว่าสาเหตุสำคัญที่สุดของการเกิดทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทย 3 อันดับแรก คือ 1.ความล่าช้า, ยุ่งยากของขั้นตอนในการดำเนินการของทางราชการ 2.กฎหมายเปิดโอกาสให้สามารถใช้ดุลยพินิจที่เอื้อต่อการทุจริต 3.ความไม่เข้มงวดของการบังคับใช้กฎหมายและกฎระเบียบ โดยรูปแบบของการทุจริตคอร์รัปชันในสังคมไทยที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุด คือ การให้สินบน ของกำนัล หรือของรางวัล รองลงมาคือ การทุจริตเชิงนโยบาย โดยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และการใช้ตำแหน่งทางการเมืองเพื่อเอื้อประโยชน์แก่พรรคพวก สำหรับเรื่องสำคัญที่ต้องการให้รัฐบาลดำเนินการโดยด่วนที่สุดเพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในไทย อันดับแรก คือ การบังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวด และมีมาตรการลงโทษอย่างเด็ดขาด รองลงมา คือ สนับสนุนให้เครือข่าย ภาคธุรกิจ และประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ และอันดับสาม ปรับเพิ่มเงินเดือนให้แก่ข้าราชการชั้นผู้น้อย พร้อมกันนี้ยังแนะกลยุทธ์สำหรับการแก้ไขทุจริตคอร์รัปชันที่ภาครัฐควรให้ความสำคัญและลงมือทำ ได้แก่ การสร้างกระบวนการ หรือวิธีการจัดซื้อจัดจ้างที่โปร่งใส ตรวจสอบได้โดยบุคคลภายนอก, บังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำการคอร์รัปชันในระดับมหภาค เพื่อเป็นตัวอย่างในการบังคับใช้อย่างจริงจัง และวางนโยบายเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการแข่งขันอย่างโปร่งใส และเท่าเทียมกัน
ด้านนายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT กล่าวว่า ผลสำรวจดังกล่าวมีความสอดคล้องกับมุมมองของ ACT โดยจะพบว่าสถิติการร้องเรียนของประชาชนต่อปัญหาทุจริตคอร์รัปชันที่เข้าไปยัง ป.ป.ช.มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากก่อนหน้านี้ที่คดีเกี่ยวกับทุจริตคอร์รัปชันจะเฉลี่ยเข้ามาปีละประมาณ 2,000 คดี แต่ในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา สถิติเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 5,000 คดี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประชาชนมีความตื่นตัว และกล้าที่จะออกมาต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ในขณะที่ฝั่งของภาคธุรกิจเอกชนต่างมองว่ามีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายหลายฉบับ ที่ทำให้ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นว่าแนวโน้มปัญหาคอร์รัปชันในประเทศไทยจะลดลง เช่น การออกกฎหมายด้านการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจต่างๆ นอกจากนี้ยังมีกฎหมายในการลงโทษหรือควบคุมผู้ประกอบการที่กระทำผิดตามกฎหมายป.ป.ช. หรือกฎหมายการจัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ ซึ่งทำให้เกิดความโปร่งใสและยุติธรรมมากขึ้น ในขณะที่ประสิทธิภาพของ ป.ป.ช.เอง พบว่ามีสถิติในการชี้มูลหรือสะสางคดีที่เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันได้เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากในปีที่ผ่านมา
ส่วนกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานนั้น แสดงให้เห็นถึงเจตจำนงค์ที่ดีที่รัฐบาลให้ความสำคัญและเอาจริงเอาจังต่อการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งจะช่วยสร้างภาพลักษณ์ประเทศไทยให้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้เห็นถึงการประสานการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชน ซึ่งการที่คณะกรรมการ คตช.แต่งตั้งขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 นี้ หากมีข้อจำกัดของกฎหมายหรือระบบราชการต่างๆ ก็จะยังทำให้คณะกรรมการชุดนี้สามารถดำเนินการแก้ปัญหาได้รวดเร็วและมีอำนาจในการตัดสินใจได้มากกว่า