นายวราวุธ ศิลปอาชา แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงการคลายล็อคให้พรรคการเมืองเตรียมความพร้อมขั้นธุรการ หลังร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ประกาศในราชกิจจานุเบกษาว่า ไม่ทราบว่าขั้นตอนที่พรรคต้องดำเนินการนั้น จะใช้เวลานานแค่ไหน แต่คงไม่ต่ำกว่า 90 วัน ซึ่งอาจพอดีกับช่วงรอเวลาผลใช้บังคับของร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. หรือหากทำแล้วยังไม่เสร็จอาจมีเวลาให้พร้อม จนถึงช่วงที่จะมีพระราชกฤษฎีกาประกาศวันเลือกตั้ง ดังนั้นเวลาที่มีอาจจะจวนเจียนต่อการสร้างความพร้อมของพรรคการเมืองที่จะลงสนามเลือกตั้งได้
สำหรับปัญหาที่หนักใจที่สุด คือ การกำกับ ควบคุมและตรวจสอบของ กกต. ชุดใหม่ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่อาจตรวจสอบ หรือกำกับไม่ทั่วถึง และอาจส่งผลต่อการเลือกตั้งที่จะมาถึงได้ เช่น กรณีที่พรรคการเมืองส่งรายชื่อของสมาชิกพรรค เข้าระบบของ กกต. ซึ่งตนเชื่อว่าจะมีรายชื่อหลายล้านคน กกต.จะตรวจสอบความครบถ้วนสมบูรณ์ได้ครบหรือไม่ โดยเฉพาะการส่งชื่อซ้ำของพรรคการเมือง หรือกรณีไพรมารีโหวต ที่บุคคลหนึ่งอาจไปลงเลือกตั้งแบบไพรมารีโหวตซ้ำกับพรรคอื่น ที่อาจเป็นปัญหากระทบต่อการทำไพรมารีโหวตของพรรคจนโมฆะได้ และประเด็นนี้หากมีผู้ร้องอาจจะกระทบต่อสิทธิส่งชื่อลงเลือกตั้ง ส.ส.ของพรรคการเมืองได้ เป็นต้น
ดังนั้นหาก กกต. ขาดความพร้อมและความสมบูรณ์ต่อการปฏิบัติงานดังกล่าว อาจกระทบต่อการเลือกตั้งได้ ตนจึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกรรมาธิการฯ ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่เป็นผู้เขียนบทบัญญัติเรื่องไพรมารีโหวต จัดเวทีเพื่อชี้แจงต่อกระบวนการทำไพรมารีโหวตของพรรคด้วย โดยเฉพาะการทำไพรมารีโหวตของผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพื่อให้พรรคปฏิบัติได้ถูกต้องและไม่เป็นปัญหาภายหลัง
ด้านพ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต.เปิดเผยว่าในการประชุม กกต.นัดแรกอย่างเป็นทางการวันนี้ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. และกรรมการ ได้รับฟังข้อมูลภารกิจแต่ละด้านในการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งสำนักงานได้เตรียมความพร้อม ที่เห็นว่าต้องเร่งรัดดำเนินการ เพื่อเตรียมความพร้อมจัดการเลือกตั้งตามโรดแมปของรัฐบาล ในช่วงต้นปี 62 ขณะเดียวกันที่ประชุมมีมติกำหนดให้มีการประชุมของคณะกรรมการทุกวันจันทร์ และอังคาร ในช่วงเวลา 13.00 น. ตามแนวทางของ กกต.ชุดที่ผ่านมา