(เพิ่มเติม) นับถอยหลัง 23 ธ.ค.เลือก ส.ส.จากนโยบายพรรค ตัวบุคคล หรือเสถียรภาพ

ข่าวการเมือง Friday December 21, 2007 15:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          การเลือกตั้งทั่วไป 23 ธ.ค.นี้เป็นการขับเคี่ยวกันอย่างเข้มข้นของผู้สมัครจากขั้วการเมือง 2 พรรคใหญ่ คือ พรรคพลังประชาชน และพรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่พรรคการเมืองขนาดกลางอื่นๆ เช่น พรรคชาติไทย, พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา, พรรคเพื่อแผ่นดิน, พรรคมัชฌิมาธิปไตย, พรรคมหาชน และพรรคประชาราช จะกลายเป็นตัวแปรในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่ทำให้การเลือกตั้งมีสีสันและรสชาดมากขึ้น
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร เลขานุการ มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย(พีเน็ต) ประเมินว่า ปัจจัยสำคัญที่ประชาชนจะใช้ตัดสินใจเลือก ส.ส.แบ่งเป็น 2 กรณี คือ คนต่างจังหวัดจะเลือก ส.ส.จากนโยบายของพรรคที่ทำประโยชน์ให้แก่ชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรมมากกว่า ขณะที่คน กทม.จะเลือก ส.ส.จากพรรคที่คิดว่าเมื่อเข้ามาแล้วจะทำให้การเมืองมีเสถียรภาพและเศรษฐกิจดีขึ้น
"คนชนบทจะมองผลกระทบในเชิงของนโยบายที่จะเกิดขึ้นในระยะสั้นมากกว่า แต่คนในชุมชนเมืองมักไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากนักการเมือง แต่จะมองในเชิงว่าถ้าการเมืองไม่นิ่งไม่มีเสถียรภาพ เศรษฐกิจของประเทศโดยรวมจะไม่ดี เวลาที่คนเมืองมองจะมองในเชิงที่ว่าฝ่ายไหนเมื่อเข้ามาแล้วจะไม่เป็นปัญหาทำให้สังคมวุ่นวายมากขึ้น หรือในอุดมการณ์ความคิดว่าถ้ารักใครชอบใครก็จะเลือกฝั่งนั้น นี่คือการคิดของคนเมืองซึ่งไม่เหมือนกับคนชนบท" นายสมชัย กล่าวกับ "อินโฟเควสท์"
สำหรับการเลือกตั้ง ส.ส.ระบบสัดส่วนนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)แบ่งพื้นที่เลือกตั้งเป็น 8 กลุ่มจังหวัด ได้แก่ กลุ่ม 1 แม่ฮ่องสอน, เชียงใหม่, เชียงราย, พะเยา, น่าน, แพร่, ลำปาง, ลำพูน, สุโขทัย, ตาก และกำแพงเพชร, กลุ่ม 2 อุตรดิตถ์, พิษณุโลก, พิจิตร, นครสวรรค์, อุทัยธานี, ลพบุรี, เพชรบูรณ์, ชัยภูมิ และขอนแก่น
กลุ่ม 3 อำนาจเจริญ, มุกดาหาร, นครพนม, สกลนคร, กาฬสินธุ์, มหาสารคาม, หนองคาย, อุดรธานี, หนองบัวลำภู และเลย, กลุ่ม 4 บุรีรัมย์, สุรินทร์, ศรีสะเกษ, อุบลราชธานี, ยโสธร และร้อยเอ็ด, กลุ่ม 5 สระแก้ว, นครราชสีมา, ปทุมธานี, นครนายก, ปราจีนบุรี, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ระยอง, จันทบุรี และตราด
กลุ่ม 6 กรุงเทพฯ, นนทบุรี และสมุทรปราการ, กลุ่ม 7 ระนอง, ชุมพร, ประจวบคีรีขันธ์, เพชรบุรี, ราชบุรี, สมุทรสงคราม, สมุทรสาคร, นครปฐม, กาญจนบุรี, สุพรรณบุรี, ชัยนาท, สิงห์บุรี, อ่างทอง, พระนครศรีอยุธยา และสระบุรี
และ กลุ่ม 8 สุราษฎร์ธานี, พังงา, ภูเก็ต, กระบี่, นครศรีธรรมราช, ตรัง, พัทลุง, สตูล, สงขลา, ปัตตานี, ยะลา และนราธิวาส
*กทม.สงครามช้างชนช้าง
สนามประลองยุทธทางการเมืองที่สำคัญหรือที่มักเรียกกันว่าเป็นเขต "ช้างชนช้าง" คงหนีไม่พ้นสนาม กทม.ที่เป็นเมืองหลวงของประเทศ กับสนามเลือกตั้งในภาคอีสานอันเนื่องจากมีสัดส่วนของ ส.ส.ที่เข้ามานั่งในสภาฯ ถึง 1 ใน 3 ของทั้งหมด การเลือกตั้งในครั้งนี้ก็เช่นกัน
ผู้สมัคร ส.ส.ระบบสัดส่วน ในกลุ่ม 6(กทม.-นนทบุรี-สมุทรปราการ) ของทั้ง 2 พรรคการเมืองใหญ่ต่างส่งหัวหน้าพรรคลงชิงชัยกันอย่างชนิดที่แพ้ไม่ได้ คือ นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่หัวหน้าพรรคน้องใหม่แต่หน้าไม่ใหม่อย่างนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ หัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตยก็ขอขึ้นเวทีด้วยแม้ต้องเผชิญกับหลายวิบากกรรมทางการเมืองรุมเร้าทั้งในพรรคนอกพรรค
ส่วนพื้นที่เลือกตั้ง ส.ส.ระบบแบ่งเขตใน กทม.แบ่งเป็น 12 เขตเลือกตั้ง โดยเขตที่เชื่อว่าเป็นสนามแข่งขันสำคัญ ได้แก่ เขต 1, เขต 3, เขต 5, เขต 7 และเขต 8
เขต 1 ดุสิต, พระนคร, ป้อมปรามศัตรูพ่าย, สัมพันธ์วงศ์, บางรัก, ปทุมวัน, ราชเทวี ซึ่งเป็นแหล่งชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีน และย่านการค้าสำคัญ มีผู้สมัครตัวเก็งจากตระกูลดัง ได้แก่ ม.ล.อภิมงคล โสณกุล, น.ส.อรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ท้าชิงเป็น น.ส.ลีลาวดี วัชโรบล, น.ส.ยุวลักษณ์ อภิธนาคุณ จากพรรคพลังประชาชน และนายประจวบ อึ้งภากรณ์, นายกฤษฎา สัจจกุล จากพรรคมัชฌิมาธิปไตย
เขต 3 ดินแดง, ห้วยขวาง, วังทองหลาง, ลาดพร้าว เป็นเขตที่มีของร้อนชิ้นโตที่รอให้เข้ามาสางปัญหาคือเรื่องการทุบแฟลตดินแดง โดยมีคู่ท้าชิงเดิมจาก 2 พรรคใหญ่ คือ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค, นายธนา ชีรวินิจ, นายสรรเสริญ สมะลาภา จากพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนทีมคู่แข่ง คือ นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ, น.ส.วนิดา คุณผลิน, นายยุรนันท์ ภมรมนตรี จากพรรคพลังประชาชน
เขต 5 บางเขน, สายไหม, ดอนเมือง ถือเป็นเขตสำคัญของคนในเครื่องแบบทั้งทหารบกและทหารอากาศ ผู้ท้าชิงในเขตนี้เป็นของพรรคชาติไทยกับพรรคพลังประชาชน คือ น.ส.จณิสตา ลิ่วเฉลิมวงศ์, นายฉมาดล หงสกุล, นายฐิติโชค กาญจนภักดี จากพรรคชาติไทย และนาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ, นายอนุสรณ์ ปั้นทอง, นายการุณ โหสกุล จากพรรคพลังประชาชน
เขต 7 บางกะปิ, สะพานสูง, มีนบุรี, ลาดกระบัง เป็นพื้นที่กึ่งเมืองกึ่งชานเมือง ผู้ลงสมัครมีทั้งดาราและบุคคลในวงการสื่อสารมวลชนที่มีชื่อเสียง เช่น นายดนุพร ปุณณกันต์ จากพรรคพลังประชาชน, นางนาถยา แดงบุหงา, นายสำราญ รอดเพชร จากพรรคประชาธิปัตย์ และ ร.ต.อ.นิติภูมิ นวรัตน์ จากพรรคเพื่อแผ่นดิน
เขต 8 สวนหลวง, ประเวศ, บางนา, พระโขนง คู่แข่งสำคัญมาจาก 2 ขั้วการเมืองใหญ่ คือ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช, นายสามารถ มะลูลีม จากพรรคประชาธิปัตย์ และนายวัฒนา เซ่งไพเราะ, น.ส.ศุภรัตน์ นาคบุญนำ จากพรรคพลังประชาชน
ส่วนหัวหน้าพรรคขนาดกลางอื่นๆ ต่างยึดหัวหาดที่มั่นลงสนามเลือกตั้งในบ้านเกิดของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย ลงสมัคร ส.ส.ระบบแบ่งเขต จ.สุพรรณบุรี, นายสุวิทย์ คุณกิตติ หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน ลงสมัคร ส.ส.ระบบแบ่งเขตใน จ.ขอนแก่น, นายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช ลงสมัคร ส.ส.ระบบสัดส่วนใน จ.สระแก้ว และ พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร หัวหน้าพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา ลงสมัคร ส.ส.ระบบสัดส่วนใน จ.นครราชสีมา
*เหนือ-อีสานเนื้อหอม พรรคใหญ่หวังยึดครองฐานเสียง
เลขาฯ พีเน็ต มองว่า ภาคอีสานจะเป็นสนามเลือกตั้งที่มีการแข่งขันอย่างรุนแรงมากที่สุด เนื่องจากมี ส.ส.ถึง 1 ใน 3 ของจำนวนที่นั่งทั้งหมดในสภา พบว่ามีการทุ่มทุนกันอย่างรุนแรงทุกพรรคการเมือง เพื่อที่อย่างน้อยจะทำให้คะแนนเสียงนำในภาคอีสาน และมีแนวโน้มว่า พปช.น่าจะได้รับการเลือกตั้งเข้ามามากที่สุด
"ประชาชนในภาคอีสานมองผลของนโยบาย เพราะพรรรคพลังประชาชนที่เป็นพรรคไทยรักไทยเดิมได้เสนอนโยบายที่เป็นรูปธรรม ซึ่งเขาอยากให้มีความต่อเนื่อง หากเปรียบเทียบกับรัฐบาลปัจจุบันแล้วเขามองว่าไม่ได้ทำอะไรที่เกิดผลดีในเชิงเศรษฐกิจต่อตัวเขา" นายสมชัย กล่าว
ความหวังของ พปช.ต้องการครองฐานเสียงภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นฐานเสียงเดิมในอดีตของพรรคไทยรักไทย(ทรท.) แต่ก็มีพรรคขนาดกลางที่อดีตสมาชิก ทรท.แยกย้ายสังกัดเป็นตัวตัดคะแนนที่สำคัญ โดยหัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดินประกาศตัวเป็นนายกรัฐมนตรีคนอีสานและจะพัฒนาขอนแก่นให้เป็น"สุวิทย์บุรี" ขณะที่พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา แม้ประกาศให้ จ.นครราชสีมาเป็นเมืองหลวงของพรรค และส่ง พล.อ.เชษฐา ลงชิงชัยประกาศศักดิ์ศรีชนิดที่ยอมแพ้ไม่ได้เช่นกัน
ในขณะที่พรรคพลังประชาชนขอทวงแชมป์ภาคอีสานอีกสมัยด้วยการส่งนายสมพล เกยุราพันธ์ บิดาของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ลงสมัคร ส.ส.ระบบสัดส่วนในกลุ่ม 5 พ่วงมากับตระกูลดังแห่งอีสานนายอัสนี เชิดชัย และนายนพดล ปัทมะ รองเลขาธิการพรรคพลังประชาชน กระบอกเสียงของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
ส่วนสมรภูมิเลือกตั้งภาคเหนือต้องจับตาไปที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็น 1 ในจังหวัดของกลุ่ม 1 นั้น แค่เห็นผู้สมัคร ส.ส.แบบสัดส่วนที่แต่ละพรรคส่งมาแล้วต้องยอมรับว่าไม่ธรรมดา โดยพรรคพลังประชาชนส่งนายยงยุทธ ติยะไพรัช พ่วงมากับนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์, พรรคประชาธิปัตย์ส่งนายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ และนายสามารถ ราชพลสิทธิ์, พรรครวมใจไทยชาติพัฒนาส่งนายอเนก เหล่าธรรมทัศน์ และพรรคเพื่อแผ่นดินส่งนายโชค คุณกิตติ เป็นต้น
*กกต.ล็อคกุญแจบ้านเลขที่ 111 ห้ามยุ่งเกี่ยวการเมือง
การเลือกตั้งในครั้งนี้อาจขาดสีสันไปบ้างในการจัดเวทีปราศรัยหาเสียง อันเนื่องมาจาก 111 อดีตกรรมการบริหารพรรค ทรท.ถูกตัดสิทธิทางการเมือง แม้จะแยกตัวออกไปอยู่ตามพรรคเกิดใหม่แต่ กกต.ยังห้ามไม่ให้สมาชิกบ้านเลขที่ 111 ขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียง, ถ่ายรูปขึ้นป้ายโฆษณาหาเสียงร่วมกับผู้สมัคร รวมทั้งห้ามแฝงเข้าไปมีตำแหน่งที่ปรึกษายุทธศาสตร์และนโยบายของพรรคการเมืองด้วยเช่นกัน
ดังนั้นจึงเป็นเหตุให้เงาแฝงในหลายพรรคต้องยอมเดินออกจากตำแหน่งที่ปรึกษายุทธศาสตร์พรรค ไม่ว่าจะเป็น นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์, นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ, นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย, นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ, นายพินิจ จารุสมบัติ, นายปรีชา เลาหะพงศ์ชนะ, นางปวีณา หงสกุล และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน เพื่อไม่ให้กระทบต่ออนาคตของพรรค
โพลล์ของแต่ละสำนักหรือของแต่ละพรรคเพื่อสำรวจความคิดเห็นประชาชนนั้น นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต.ระบุว่าเป็นสิทธิที่สามารถจะกระทำได้ในการเผยแพร่ผลโพลล์ แม้จะยอมรับว่ามีอิทธิพลที่จะโน้มเอียงการตัดสินใจของประชาชนได้
แต่ระยะเวลา 7 วันก่อนการเลือกตั้งจะต้องหยุดการนำเสนอผลโพลล์ดังกล่าวเพื่อให้เป็นไปตามกฎระเบียบของ กกต.และถือว่าช่วงเวลานี้จะเป็นช่วงเวลาที่ให้ประชาชนได้ใช้วิจารณญาณการตัดสินใจด้วยตัวเองอย่างเต็มที่ว่าจะเลือกใครเข้ามาเป็นผู้แทนโดยปราศจากการชี้นำของผลโพลล์ใดๆ ทั้งสิ้น
"ในช่วง 7 วันก่อนการเลือกตั้ง เราจะห้ามเผยแพร่ผลการสำรวจเรื่องเลือกตั้ง เพราะถือเป็นช่วงโค้งสุดท้าย หากไม่เผยแพร่ก็ถือว่ายุติธรรมดีที่จะให้ประชาชนตัดสินใจโดยที่ไม่มีการชี้นำจากผลโพลล์ใดๆ" นายสุทธิพล กล่าวกับ "อินโฟเควสท์"
*เกณฑ์การคำนวณ ส.ส.ระบบสัดส่วน-ส.ส.ระบบแบ่งเขต
การเลือกตั้งในครั้งนี้จะมี ส.ส.ทั่วประเทศทั้งหมด 480 คน แบ่งเป็น ส.ส.ระบบสัดส่วน 80 คน และ ส.ส.ระบบแบ่งเขต 400 คน สำหรับการคำนวณ ส.ส.ระบบสัดส่วนนั้น ภายหลังการปิดหีบแล้วให้ กกต.ประจำเขตเลือกตั้งรวมคะแนน ส.ส.ระบบสัดส่วนจากทุกเขตเลือกตั้งให้ กกต.จังหวัด จากนั้นให้ กกต.จังหวัด รวมผลคะแนนเลือกตั้งจากทุกเขตเลือกตั้งส่งไปยัง กกต.จังหวัดจังหวัดหนึ่งในกลุ่มเขตจังหวัด แล้วให้รวมผลคะแนนเลือกตั้ง และประกาศผลการรวมคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.ระบบสัดส่วนของเขตกลุ่มจังหวัดนั้น แล้วส่งให้ กกต.กลาง เมื่อได้คะแนน ส.ส.ระบบสัดส่วนจากกลุ่มจังหวัดแล้ว กกต.กลางจะนำคะแนนมาคำนวณ
เมื่อได้คะแนนแล้ว กกต.กลาง จะรวมผลคะแนนทั้งหมดของพรรคการเมืองทุกพรรคในแต่กลุ่มจังหวัดนั้นๆ นำมาหารด้วย 10 ก็จะได้ผลลัพธ์เป็นคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.ระบบสัดส่วน 1 คน แล้วให้ถือว่าผลลัพธ์ที่ได้เป็นฐานคิดคำนวณจำนวน ส.ส.ระบบสัดส่วนที่แต่ละพรรคจะได้ในกลุ่มจังหวัดนั้นๆ
ในการคิดรอบแรก หากพรรคการเมืองใดผ่านการคิดรอบแรกแล้วจำนวน ส.ส.ยังได้ไม่ครบ 10 คน กฎหมายกำหนดให้นำผลลัพธ์ที่เป็นคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.ระบบสัดส่วน 1 คน ไปคำนวณกับเศษคะแนนที่เหลือ โดยพรรคใดเหลือเศษคะแนนมากกว่าก็ถือว่าพรรคนั้นได้ ส.ส.เพิ่มอีก 1 คน หากเศษที่เหลือเป็นคะแนนที่เท่ากันให้ตัวแทนของพรรคการเมืองจับสลาก โดยจะต้องทำตามขั้นตอนนี้จนกระทั่งได้ ส.ส.ระบบสัดส่วนครบ 10 คนในแต่ละกลุ่มจังหวัด
ส่วนการคำนวณ ส.ส.ระบบแบ่งเขตนั้น รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 กำหนดให้การเลือกตั้งเป็นไปแบบเขตใหญ่เรียงเบอร์ ในแต่ละเลือกตั้งจึงจะมี ส.ส.ไม่เกิน 3 คน ดังนั้นจึงมีวิธีการคำนวณไม่ยุ่งยาก คือหากพรรคการเมืองใดได้รับคะแนนสูงสุด 3 อันดับแรกก็จะได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.เขตนั้นๆ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ