นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT แถลงข่าว "7 ปี องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)" ว่า ตลอด 7 ปี ที่องค์กรและภาคีเครือข่ายได้ผนึกกำลังต่อสู้กับการทุจริตคอร์รัปชัน สร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคมไทยหลายประการ รวมทั้งช่วยปลุกกระแสให้เห็นถึงความเลวร้ายของการโกงชาติ และได้ร่วมผลักดันให้เกิดกฎหมาย เปลี่ยนแปลงกระบวนการยุติธรรมและระบบราชการ ที่รวดเร็ว เอื้อต่อการต้านโกงและเอาผิดคนโกง ที่สำคัญคือ ทำให้คนไทยไม่ยอมทน กล้าออกมาเปิดโปงการทุจริตและการโกงมากขึ้น
ผลจากการที่องค์กรและภาคีเครือข่าย ร่วมผลักดันกฎหมาย อย่าง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ศ. 2560 กำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐผ่านโครงการข้อตกลงคุณธรรม นับตั้งแต่ปี 2558 ถึงปัจจุบัน พบว่าในโครงการข้อตกลงคุณธรรม มีหน่วยงานเข้าร่วม 73 โครงการ มูลค่ารวม 875,428 ล้านบาท มีการลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างแล้ว จำนวน 45 โครงการ มูลค่ารวม 103,839 ล้านบาท ช่วยประหยัดงบประมาณให้รัฐได้สูงถึง 25,128 ล้านบาท คิดเป็น 24.20% นับเป็นความสำเร็จ ที่เกิดจากทุกฝ่ายที่ร่วมมือกันทำให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้างเกิดความโปร่งใสยุติธรรม และมีการแข่งขันมากขึ้น
ทั้งนี้ จากการสำรวจของหอการค้าไทยร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในการแถลงดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทยล่าสุด พบว่า ทัศนคติและจิตสำนึกต่อการทุจริตคอร์รัปชั่นของประชาชนเปลี่ยนแปลงไป ทั้งยังทนไม่ได้เมื่อพบเห็นการโกงและไม่ยอมรับคอร์รัปชันโดยสิ้นเชิง โดยร้อยละ 99 เห็นว่าคอร์รัปชันไม่ใช่เรื่องไกลตัวและไม่ยอมรับรัฐบาลที่เก่งมีผลงานดีเด่นแต่ทุจริต อย่างไรก็ตาม ยังพบปัญหาและอุปสรรคในการทำงานกับรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งอำนาจรัฐยังเป็นช่องทางที่ยังมีการเรียกสินบน และยังไม่ได้รับการแก้ไข หน่วยงานภาครัฐยังมีการหวงอำนาจและไม่ตอบสนองต่อนโยบาย รวมถึงประชาชนยังจำยอมและเคยชินการให้สินบน และการบังคับใช้กฏหมายไม่เสมอภาค
ส่วนกรณีการติดตามความคืบหน้าเรื่องนาฬิกาหรูของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีนั้น นายประมนต์ กล่าวว่า นอกจากส่งหนังสือไปที่ป.ป.ช.แล้ว ได้ติดตามเรื่องนี้ต่อด้วยตัวเองด้วย แต่ยอมรับว่าผิดหวังในความล่าช้าของคณะกรรมการป.ป.ช. แต่ยืนยันยังตามเรื่องอยู่และได้เร่งรัดไปแล้ว
"อะไรที่ทำแล้วรู้สึกว่า เป็นสองมาตรฐานมันก็ถูกสังคมไต่ถาม ซึ่งความล่าช้าทุกคนผิดหวัง คงต้องตามจี้ว่าเขาตอบอย่างไร"นายประมนต์ กล่าว
ทั้งนี้นายประมนต์ กล่าวว่า หากประเมินความจริงใจในการแก้ไขปัญหาการทุจริตของนายกรัฐมนตรี ให้ 100% แต่บุคคุลใกล้ตัวนายกฯ ยังมีเรื่องที่สังคมยังตั้งข้อสงสัย ส่วนนายกรัฐมนตรีควรจะดำเนินการอย่างไรกับคนใกล้ตัวที่สังคมตั้งข้อสงสัย นายประมนต์กล่าวว่า ส่วนตัวเชื่อว่าเรื่องนี้ นายกรัฐมนตรีคงทราบดีไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวอะไร
"องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และภาคีเครือข่าย ยังมีความมุ่งมั่น ที่จะต่อสู้ต่อไป สิ่งที่เราต้องพยายามอย่างต่อเนื่อง คือ ทำให้กฎหมายและระบบราชการดีๆ ที่องค์กรและภาคีเครือข่ายร่วมกับรัฐบาลผลักดันมา ได้มีการบังคับใช้อย่างจริงจังเป็นธรรม" นายประมนต์ กล่าว
ด้านนายวิเชียร พงศธร รองประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวถึงก้าวต่อจากนี้ไปในปี 2561 ว่า องค์กรและภาคีเครือข่าย จะยังคงเดินหน้าติดตามหลายประเด็นคอร์รัปชันที่ยังไม่บรรลุผล อาทิ การผลักดันเรื่องการปฏิรูปราชการ ตำรวจ และกฎหมายที่ล้าสมัย, การติดตามโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่สำคัญๆ และการพัฒนาการดำเนินงานต่อต้านคอร์รัปชันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยใช้ Big Data & Analytics มาใช้ในการตรวจสอบที่เข้มข้นมากขึ้น และพัฒนาระบบนิเวศสร้างค่านิยมต่อต้านคอร์รัปชันในเด็ก ในสื่อ ภาคธุรกิจ และประชาสังคมต่อไป