ถึงแม้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังไม่คลายล็อคให้พรรคการเมืองเคลื่อนไหวเพื่อจัดกิจกรรมได้ แต่กลุ่มการเมืองต่างๆ ก็เริ่มมีความเคลื่อนไหวเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งตามโรดแมพของ คสช.ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2561
เมื่อมองถึงกลยุทธ์ในการหาเสียงยุคนี้ดูจะแปลกตาไปจากที่ผ่านๆ มา เพราะไม่เพียงแต่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือกฎหมายลูกฉบับใหม่เท่านั้น แต่พรรคการเมืองหลายพรรคนำยุทธวิธี "แสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่าง" มาใช้เพื่อเดินไปสู่เป้าหมายในการได้รับการเลือกตั้ง โดย "จุดร่วม"ที่ว่าคือ การชู พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้กลับมานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย
ส่วน "จุดต่าง" คือ อุดมการณ์ของแต่ละพรรคการเมืองที่ทำให้ไม่สามารถรวมตัวอยู่ภายใต้พรรคการเมืองเดียวกันได้ เพราะจะมีการแบ่งก๊กแบ่งเหล่ามากมายหลายมุ้ง เพื่อรักษาผลประโยชน์ของบตัวเองจนกลายเป็นปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคให้ต้องปวดหัว
หากเข้าไปดูบรรดาพรรคการเมืองเกิดใหม่ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่มีมากถึง 114 พรรค เบื้องลึกเบื้องหลังที่พอจะเห็นหลายพรรคมีแนวทางการทำงานในลักษณะดังกล่าว โดยแกนนำแต่ละคนแยกย้ายกันไปรวบรวมคนที่มีอุดมการณ์เดียวกันแล้วตั้งเป็นพรรคการเมือง
"พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.)"เป็นพรรคการเมืองที่เปิดตัวใหม่ล่าสุด โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เป็นแกนนำ แต่ปฏิเสธรับตำแหน่งใดๆ ขณะที่มีความชัดเจนแน่นอนคือการประกาศสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย โดยพรรคนี้ให้"หม่อมเต่า" ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย รั้งเก้าอี้หัวหน้าพรรค
ก่อนหน้านี้มีพรรคการเมืองอีกหลายพรรคที่ประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่มีชื่อนายชวน ชูจันทร์ เป็นผู้ยื่นจัดตั้งพรรค, พรรคประชาชนปฏิรูป ที่มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นหัวหน้าพรรค, พรรคพลังธรรมใหม่ ที่มี นพ.ระวี มาศฉมาดล เป็นหัวหน้าพรรค, พรรคพลังพลเมืองไทย ที่มีนายสัมพันธุ์ เลิศนุวัฒน์ เป็นหัวหน้าพรรค, พรรคพลังชาติไทย ที่มี พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ เป็นหัวหน้าพรรค
กลุ่มสามมิตรที่มีอดีตนักการเมืองคนสำคัญ ได้แก่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มมัชฌิมา และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตแกนนำพรรคเพื่อไทย เป็นอีกกลุ่มการเมืองหนึ่งที่กำลังถูกจับตามองเป็นพิเศษกับปฏิบัติการเดินสายดูดอดีต ส.ส.ภาคเหนือและภาคอีสานของพรรคเพื่อไทยอย่างอึกทึกครึกโครม เพราะถูกมองว่าเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ อีกเช่นกัน
ส่วนท่าทีของคนในรัฐบาลซึ่งใกล้ชิดสนิทสนมกับอดีตนักการเมือง อย่างนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี หรือ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ ก็ดาหน้าออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองดังกล่าว แต่ยังไม่วายที่จะมีกระแสข่าวว่ามีรัฐมนตรีบางคนเตรียมลาออกจากตำแหน่งเพื่อมาลงเลือกตั้ง
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาระบุว่าจะประกาศความชัดเจนเกี่ยวกับอนาคตทางการเมืองของตนเองในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้อย่างแน่นอน โดยระบุว่า"เมื่อถึงเวลาทุกคนจะได้รู้ถึงการตัดสินใจของผม ซึ่งต้องดูข้อกฎหมายและรัฐธรรมนูญด้วย และต้องพิจารณาว่าจะอยู่เพื่ออะไรมีความจำเป็นหรือไม่ และต้องพิจารณาด้วยว่า หากจะสังกัดพรรคจะไปอยู่พรรคไหน ซึ่งส่วนตัวมีหลักเกณฑ์ที่จะตัดสินใจไว้แล้ว แต่ตอนนี้ขอเน้นเรื่องการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองก่อน"
สำหรับความคืบหน้าเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส.ตามโรดแมพของ คสช.นั้น ล่าสุด นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้หารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดใหม่เกี่ยวกับการดำเนินการตามขั้นตอนโรดแมพเลือกตั้ง ได้แก่ การแก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 เพื่อคลายล็อคให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้มากขึ้น เช่น การประชุมพรรค, การแบ่งเขตเลือกตั้ง, การทำไพรมารี่โหวต ก่อนที่กฎหมายลูก 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. จะมีผลบังคับใช้ โดยระบุว่าการเลือกตั้ง ส.ส.เร็วสุดที่จะเกิดขึ้น คือ วันที่ 24 ก.พ.62 และช้าสุดคือ วันที่ 5 พ.ค.62
คอการเมืองคงต้องอดใจรออีกไม่นาน เพราะใกล้ถึงกำหนดที่ คสช.คลายล็อคให้พรรคการเมืองหาเสียงเพื่อเตรียมตัวเลือกตั้งได้ตามที่ประกาศไว้ในช่วงเดือนกันยายนนี้ ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นน่าจะได้เห็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่าใครเป็นใคร