นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงความคืบหน้าการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น 6 ฉบับว่า เรื่องนี้กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีการรับฟังความคิดเห็นประชาชนตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ส่วนเนื้อหาทั้งหมดจะส่งไปให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้พิจารณา
"การเลือกตั้งท้องถิ่นคงเป็นไปได้ยากที่จะเลือกตั้งก่อนการเลือกตั้งใหญ่ที่กำหนดไว้วันที่ 24 ก.พ.62 เนื่องจากอาจต้องใช้เวลาพิจารณาใน สนช. 3 เดือน และต้องเผื่อเวลาการทูลเกล้าฯ กฎหมายอีก ประมาณ 2-3 เดือน เบ็ดเสร็จแล้ว 5-6 เดือน จะจบประมาณ ม.ค.62 ซึ่งจะใกล้กับการเลือกตั้งระดับชาติ"รองนายกฯ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวว่า จากการพูดคุยกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดใหม่ กกต.ได้ขอให้ทิ้งระยะเวลาห่าง 90 วัน ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังเลือกตั้งใหญ่ พร้อมทั้งขอให้แบ่งการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกประมาณ 40 จังหวัด ที่ไม่มีการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่จากนั้นค่อยจัดการเลือกตั้งในจังหวัดที่เหลือ
ทั้งนี้ นายวิษณุ กล่าวว่า ในกฎหมายท้องถิ่น 6 ฉบับ การเลือกตั้งสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) ยังมีอยู่ ส่วนการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งถัดไปจะได้เลือก ส.ข.หรือไม่นั้นยังไม่แน่ เพราะเข้าใจว่าที่มีการเขียนกันมายังคงมี ส.ข.แต่ให้รอไว้ก่อน
สำหรับการเตรียมการในกรณีที่หากการเลือกตั้งเกิดขึ้นหลังเดือน ก.พ.62 การแบ่งเขตเลือกตั้งสามารถทำได้ทันที หรือต้องรอการสำรวจประชากร ในเดือน มี.ค.62 ก่อน นายวิษณุ กล่าวว่า กกต.เตรียมการไว้แล้ว กรณีเช่นนี้คงไม่กระทบอะไร เพราะในการพูดคุยกับ กกต. ได้ตกลงกันว่าจะใช้ตัวเลขประชากรที่สำรวจล่าสุด ณ เดือน ธ.ค.60 เป็นตัวตั้ง ปิดบัญชีแค่นั้น ซึ่งตนเองได้รายงานเรื่องนี้กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไปแล้ว
ส่วนกรณีมีการร้องเรียนการทำผิดกฎหมายเลือกตั้งใน จ.นครราชสีมา ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ยังไม่ประกาศใช้ จะเป็นความผิดย้อนหลังหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่ความผิดย้อนหลัง ถ้าผิดเมื่อไรคือเมื่อนั้น อยู่ที่ว่าจะดำเนินคดีเมื่อไร หากยังอยู่ในอายุความสามารถดำเนินคดีได้
นายวิษณุ กล่าวว่า ขอให้ทุกคนระมัดระวังและเคลื่อนไหวด้วยความสงบที่บอกว่าการจะจัดการเลือกตั้งต้องอยู่ในความสงบเรียบร้อย ลักษณะเช่นนี้คือ ความไม่สงบชนิดหนึ่งเพียงแต่ไม่รุนแรง และไม่ส่งผลกระทบมาก แต่ถ้าปล่อยไปยาวๆ แล้วมีหลายเรื่องเข้ามาจะกลายเป็นความรุนแรงที่มากขึ้น
"ส่วนที่อีรุงตุงนังกันอยู่ ขอว่าอย่าไปทำอะไรที่มันสุ่มเสี่ยง เพราะทำอะไรลงไปจะมีคนคอยจ้องจับผิดกันอยู่ ไม่ได้มีแค่เจ้าหน้าที่ของรัฐ พรรคการเมืองก็จ้องจับผิดกันเอง และทุกคนจะเก็บข้อมูลไว้ ถึงเวลาจะเอามาฟ้องร้องกันเปล่าๆ" นายวิษณุ กล่าว
ด้านนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงการเลือกตั้งท้องถิ่นหรือระดับชาติอันไหนจะเกิดก่อนหรือหลังยังไม่มีใครกำหนด เพียงแต่เป็นการคาดการณ์กันไปเองตามโรดแมพ แต่เห็นว่าในเวลานี้หากเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนก็จะเกิดความวุ่นวายและเป็นปัญหา เพราะต้องเลือกตั้งท้องถิ่นทั้งหมด ซึ่งจะต้องใช้เวลา และ กกต. ก็ต้องเตรียมการเลือกตั้งทั่วไปด้วย
"กฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นที่ยกร่างล่าช้า เป็นเพราะมีปัญหาในส่วนของการเลือกตั้งท้องถิ่นของ กทม. ที่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปในเรื่อง ส.ข. ได้ แต่ในเบื้องต้นในการเลือกตั้งครั้งนี้ จะยังไม่มีส.ข. แต่ใช้รูปแบบคณะกรรมการชุมชนแทนไปก่อน แล้วหลังจากนี้ กทม.ซึ่งอยู่ระหว่างการยกร่างปรับปรุงกฎหมาย กทม.ใหม่ จะได้ศึกษาและยกร่างมา และตัดสินใจร่วมกันกับรัฐบาลใหม่ว่ายังคงมี ส.ข. หรือไม่"