พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และร่างกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวม 6 ฉบับ ซึ่งผ่านการตรวจพิจารณาจากคณะกรรมการกฤษฎีกา และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และกระทรวงมหาดไทยแล้ว
"หลังจากนี้จะส่งให้ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแหงชาติ (สนช.) พิจารณาได้ภายในเดือนกันยายนนี้ คาดว่าจะใช้เวลาในการพิจารณา 2-3 เดือน หรือเสร็จราวเดือน พ.ย.61 ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งมีกรอบเวลาอีก 3 เดือน ถ้าเป็นอย่างนี้การเลือกตั้งท้องถิ่นน่าจะมีขึ้นหลังการเลือกตั้งใหญ่" พล.ท.สรรเสริญ กล่าว
เนื่องจากที่ผ่านมามีผู้บริหารท้องถิ่นถูกร้องเรียนว่ากระทำการฝ่าฝืนความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน หรือละเลยไม่ปฏิบัติตตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ แต่ในระหว่างกระบวนการสอบสวนมักมีกรณีที่ผู้บริหารท้องถิ่นได้พ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุลาออกหรือครบวาระ หรือเหตุอื่นใด ต่อมากลับปรากฏว่าผู้นั้นได้รับเลือกให้เป็นผู้บริหารท้องถิ่นอีก ซึ่งปัญหาดังกล่าวได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งจากความไม่ชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมาย ประกอบกับมาตรา 252 ของรัฐธรรมนูญ บัญญัติให้สมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง และผู้บริหารท้องถิ่นให้มาจากการเลือกตั้งหรือมาจากความเห็นชอบจากสภาท้องถิ่น หรือกรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษจะมาโดยวิธีอื่นก็ได้แต่ต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย
สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ได้แก่ กำหนดให้ กกต.สามารถตรวจสอบการเลือกตั้งเชิงรุกโดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีการร้องเรียน, ผู้สมัครที่ได้รับเลือกตั้งจะต้องได้คะแนนมากกว่าจำนวนคะแนนที่ไม่เลือกผู้สมัครคนใด, ผู้สมัครที่ถูก กกต.ชี้มูลความผิดก่อนการเลือกตั้งจะถูกตัดสิทธิ์ 1 ปี แต่หลังประกาศผลเล่อกตั้งแล้วสามารถนำไปร้องต่อศาลอุทธรณ์ ซึ่งหากมีความผิดจะถูกตัดสิทธิ์ 10 ปี และต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้ง
ส่วนร่างอีก 5 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล, ร่าง พ.ร.บ.เทศบาล, ร่าง พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด, ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร และร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นนั้นจะแบ่งออกเป็น 2 รอบ โดยรอบแรกประมาณ 40 จังหวัดที่ไม่มีปัญหาเรื่องการแบ่งเขต และรอบสองส่วนที่เหลืออีก 36 จังหวัด