รองประธาน สนช.แนะสื่อเป็นกลาง ร่วมเป็นกลไกขับเคลื่อนการปฏิรูป สร้างความปรองดองให้ประเทศ

ข่าวการเมือง Thursday September 6, 2018 14:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่หนึ่ง กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง "บทบาทของสื่อมวลชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560" ว่า ในรัฐธรรมนูญให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน โดยมีการกำหนดการคุ้มครองวิชาชีพสื่อไว้ และสื่อย่อมมีเสรีภาพ ซึ่งไม่ว่าสื่อมวลชนจะทำหน้าที่ในการนำเสนอข้อมูลแก่ประชาชนหรือทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ ต้องอยู่บนพื้นฐานความรับผิดชอบและปฏิบัติภายใต้จริยธรรมของสื่อ ต้องนำเสนอด้วยความถูกต้อง ไม่มีการบิดเบือนหรือปิดบัง

ซึ่งตามรัฐธรรมนูญในมาตรา 35 ได้บัญญัติให้มีการคุ้มครองการทำหน้าที่สื่อมวลชนไม่ให้มีการแทรกแซงจากภายใน ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงไม่ให้ถูกแทรกแซงจากอำนาจเงิน ซึ่งการให้เงินอุดหนุนจากภาครัฐหรือเอกชนไม่สามารถทำได้ เพื่อให้เกิดความอิสระในการปฏิบัติหน้าที่

"สื่อมวลชนมีบทบาทและทำหน้าที่เป็นคนกลางในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร และนำเสนอความเคลื่อนไหวทางการเมืองสู่ประชาชน รวมถึงมีบทบาทในการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ โดยบทบาทการเป็นคนกลางนำข้อมูลข่าวสารสู่ประชาชนนั้นต้องนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริง อยู่บนพื้นฐานที่ถูกต้อง พร้อมทั้งคำนึงด้วยว่าข่าวสารที่เสนอออกไปต้องทำให้ประชาชนเกิดการเรียนรู้ด้วย

ส่วนการตรวจสอบการทำงานในหน่วยงานภาครัฐ สื่อมวลชนถือเป็นตัวแทนประชาชนในการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ ซึ่งถือเป็นภารกิจที่สำคัญและมีผลต่อสังคมและประเทศชาตินายสุรชัย กล่าว

สำหรับในช่วงเวลานี้ถือเป็นช่วงสำคัญที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากสภาพแวดล้อมเดิมๆไปสู่สภาพการณ์ใหม่ที่หวังว่าจะดีขึ้น ก้าวข้ามความขัดแย้ง ซึ่งแนวทางของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปประเทศ ซึ่งในรัฐธรรมนูญได้กำหนดเป้าหมายการปฏิรูปไว้ 3 ด้าน คือ 1.ปฏิรูปประเทศเพื่อความสงบเรียบร้อย เกิดความปรองดอง และพัฒนาตามปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียง 2.ปฏิรูปเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำ และ 3.ปฏิรูปเพื่อให้ประเทศเกิดความสงบสุข ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปทั้ง 3 ด้าน สื่อมวลชนถือว่าเป็นส่วนสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ที่จะช่วยเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและร่วมสร้างอุดมการณ์ เพื่อทำให้ประเทศมีความสงบ เกิดความปรองดอง ช่วยกันตรวจสอบและเป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชน แต่หากสื่อมวลชนใดก็ตามทำหน้าที่จนนำไปสู่ความขัดแย้ง หรือเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปประเทศ ต้องทบทวนตนเองแล้วว่า ได้ทำหน้าที่ของสื่อตามบทบาทที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ