พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า หลังจากราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ไปเมื่อวานนี้แล้ว กฎหมายทั้งสองฉบับจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนดเวลา 90 วัน คือ ตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค.61 เป็นต้นไป ดังนั้น จึงจะสามารถคัดเลือก ส.ว.และจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ในช่วง 11 ธ.ค.61-9 พ.ค.62
สำหรับการเลือกตั้ง ส.ส.ช่วงก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ กกต.จะดำเนินการในเรื่องแบ่งเขตเลือกตั้งให้เสร็จภายใน 55-60 วัน ต่อจากนั้นจะดำเนินการเรื่องการทำไพรมารีโหวตให้เสร็จภายใน 30 วัน ส่วนการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองคงต้องขึ้นการพิจารณาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในเรื่องการแก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ก่อน คาดว่าจะดำเนินการในเร็วๆ นี้
ขณะที่ กกต.อยู่ระหว่างการพิจารณาออกระเบียบที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการที่จะได้มาซึ่ง ส.ว. โดยที่ผ่านมาได้มีการประชุมพิจารณาล่วงหน้าไป 3 ครั้งแล้ว คาดว่าจะเสร็จเรียบร้อยภายในสัปดาห์หน้า
สำหรับรายละเอียดการสมัครและการเลือก ส.ว.ระบบใหม่นั้น ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 นับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ฉบับที่ 20 ซึ่งมีเนื้อหาสาระการได้มาซึ่ง ส.ว. ที่น่าสนใจ ดังนี้
ในวาระเริ่มแรกตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 ส.ว.มีจำนวน 250 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถวายคำแนะนำ โดยมาจาก 3 ส่วน คือ
1. คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดำเนินการจัดให้มีการเลือก ส.ว. จำนวน 200 คน แล้วนำรายชื่อเสนอต่อ คสช. คัดเลือก จำนวน 50 คน
2. คณะกรรมการสรรหา ส.ว. คัดเลือกบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสมอันจะเป็นประโยชน์แก่การปฎิบัติหน้าที่ของ ส.ว.และการปฏิรูปประเทศ มีจำนวนไม่เกิน 400 คน แล้วนำรายชื่อเสนอต่อ คสช. คัดเลือก จำนวน 194 คน
3. ผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อีก จำนวน 6 คน
สำหรับ 10 กลุ่มอาชีพผู้สมัคร ส.ว.
รัฐธรรมนูญกำหนดให้ ส.ว.มาจากการเลือกกันเองของบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะ หรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงาน หรือเคยทำงานด้านต่างๆ ที่หลากหลายของสังคม โดยในวาระเริ่มแรกกำหนดให้มีกลุ่มจำนวน 10 กลุ่ม ดังนี้
1. กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง
2. กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม
3. กลุ่มการศึกษาและการสาธารณสุข
4. กลุ่มอาชีพกสิกรรม ปลูกพืชล้มลุก ทำนา ทำสวน ทำไร่ ทำป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง
5. กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคลซึ่งมิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ผู้ใช้แรงงาน/อาชีพอิสระ
6. กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตกรรม
7. กลุ่มผู้ประกอบการกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม ผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว
8. กลุ่มสตรี ผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น ประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์
9. กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา สื่อสารมวลชน ผู้สร้างวรรณกรรม
10. กลุ่มอื่นๆ (ผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ย่อมมีสิทธิสมัครในกลุ่มอื่นๆ)
ทั้งนี้ ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกเป็น ส.ว. ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย โดยการเกิด มีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี ในวันสมัครรับเลือก มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่า 10 ปี และต้องมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้ เกิดในอำเภอที่สมัคร หรือมีชื่อหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปีนับถึงวันสมัครรับเลือก หรือทำงานหรือเคยทำงานในอำเภอที่สมัครติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปี นับถึงวันสมัครรับเลือก หรือเคยศึกษาในสถานศึกษาตั้งอยู่ในอำเภอที่สมัครติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปีการศึกษา และต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนดด้วย
กรณีที่มีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งนั้น ที่ประชุม กกต.จะรวบรวมมาพิจารณาในสัปดาห์หน้า ถึงแม้จะยังไม่มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งก็ตาม