นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ความชัดเจนเรื่องการเลือกตั้งส่งผลบวกต่อภาคการลงทุนและเศรษฐกิจ หากมีการเลือกตั้งภายในเดือน ก.พ.62 จะมีค่าใช้จ่ายการเลือกตั้งและกิจกรรมทางการเมืองช่วยกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยจะเงินสะพัดตั้งแต่ไตรมาสสี่ต่อเนื่องไปยังต้นปีหน้าไม่ต่ำกว่า 50,000-65,000 ล้านบาท มีการกระจายตัวของกิจกรรมในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เม็ดเงินจะกระจายตัวมากกว่าการใช้จ่ายงบประมาณตามปรกติ การกระจายเชิงพื้นที่จะลดการกระจุกตัวของการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
ขณะเดียวกันหากการเลือกตั้งเลื่อนออกไปมากเท่าไหร่จากเดือน ก.พ.ไปเดือน พ.ค.ย่อมทำให้ข้าราชการจำนวนหนึ่งเกียร์ว่างและรอดูความชัดเจนว่า พรรคการเมืองใดจะชนะการเลือกตั้ง ใครจะมาเป็นรัฐบาลและบริหารกระทรวงใดบ้าง อาจทำให้งบลงทุนมีการเบิกจ่ายลดลง
แต่การไม่เปิดเสรีภาพ ไม่ปลดล็อกทำเพียงแค่คลายล็อคให้พรรคการเมืองและประชาชนในการทำกิจกรรมทางการเมืองจะลดทอนผลบวกของการเลือกตั้งต่อเศรษฐกิจและหักล้างผลดีที่เกิดขึ้นกับตลาดการเงิน รวมทั้งกระแสเงินทุนไหลเข้าของนักลงทุนต่างชาติ และทำให้เกิดความไม่มั่นใจว่าจะมีระบบการเลือกตั้งและการจัดการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรมและเป็นไปตามมาตรฐานสากลหรือไม่ การเลือกตั้งที่เป็นเพียงพิธีกรรมย่อมไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ ภาคการลงทุนในระยะยาว การทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตยตามเจตนารมณ์ของประชาชน มีเสรีภาพในการทำกิจกรรมทางการเมือง ย่อมทำให้คุณภาพ ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการเลือกตั้งดีขึ้น
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ระบบนิติรัฐและความน่าเชื่อถือของรัฐบาลมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อภาคการลงทุนและการตัดสินใจ ยิ่งเลือกตั้งเร็วเท่าไหร่ และสามารถจัดการเลือกตั้งได้อย่างโปร่งใส เป็นธรรมและน่าเชื่อถือมากเท่าไหร่ จะยิ่งลดความเสี่ยงในการจะเกิดวิกฤตการณ์การเมืองรอบใหม่มากเท่านั้น และเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะยาว
การเลือกตั้งที่โปร่งใสเป็นธรรมเป็นปัจจัยพื้นฐานที่นำมาสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยหลังการเลือกตั้งต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและปรับเปลี่ยนระบบและกลไกบางอย่างเพื่อให้ประเทศไทยก้าวข้ามจากระบอบกึ่งประชาธิปไตย สู่ ระบอบประชาธิปไตยโดยฉันทามติของประชาชน เมื่อมีประชาธิปไตยที่ความมั่นคงแล้ว การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของกลุ่มทุนไทย (Outward Direct Investment) เพื่อลดความเสี่ยงจากปัจจัยการเมืองในประเทศจะลดลง และจะไหลย้อนกลับมาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ส่วนนักลงทุนไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศเพื่อขยายฐานการผลิต สร้างเครือข่ายการค้า ขยายฐานลูกค้า และแสวงหาทรัพยากร วัตถุดิบและเทคโนโลยีจะยังคงเติบโตต่อไป การเติบโตส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายการผ่อนคลายและการเปิดเสรีการออกไปลงทุนในต่างประเทศด้วย อัตราการเติบโตของ Thailand’s outward direct investment ในหลายปีที่ผ่านมายังคงสูงกว่าการลงทุนภาคเอกชนในประเทศ
โดยการลงทุนในต่างประเทศของกลุ่มทุนไทยอยู่ที่ 2.921 ล้านล้านบาท เทียบการลงทุนเอกชนในประเทศอยู่ที่ 2.555 ล้านล้านบาท การลงทุนในประเทศจึงค่อนข้างซบเซาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพิ่งจะกระเตื้องขึ้นบ้างในปีนี้
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า การคืนอำนาจให้ประชาชนผ่านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะทำให้เกิดการกระจายอำนาจมากขึ้น การกระจายอำนาจจะเป็นปัจจัยจำเป็นต่อการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การกระจายตัวของรายได้และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ระบบการเมืองที่ส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมและมีเสรีภาพจะช่วยลดการผูกขาดในระบบเศรษฐกิจลง สามารถใช้เสรีภาพโดยไม่ถูกปิดกั้นในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศจะเป็นสภาวะแวดล้อมที่จะทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมได้ดีกว่า
เมื่อพิจารณาผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจมหภาค พบว่าความไม่แน่นอนทางการเมืองอาจเพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งที่ไม่เสรีไม่เป็นธรรมหรือการสืบทอดอำนาจโดยไม่ยึดหลักการประชาธิปไตย (นายกฯคนนอก) ส่งผลในเชิงลบต่อเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้น โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชน และต่อศักยภาพการเจริญเติบโตระยะยาว ความไม่แน่นอนทางการเมืองมีหลายลักษณะและมีนัยสำคัญทางสถิติและขนาดของผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจที่ค่อนข้างแตกต่างกัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนของปัจจัยทางการเมืองต่อพลวัตของเศรษฐกิจไทย เราหวังว่าจะเกิดความแน่นอนทางการเมืองด้วยการจัดการเลือกตั้งให้เสรีและเป็นธรรมรวมทั้งเคารพต่อเจตนารมณ์ของประชาชนอย่างแท้จริงด้วยการสนับสนุนให้พรรคการเมืองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ จัดตั้งรัฐบาลและสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.งดออกเสียงในการเลือกนายกรัฐมนตรี