นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการและผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึง ผลกระทบจากรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549 ในโอกาสครบรอบ 12 ปีและประเมินอนาคตเศรษฐกิจการเมืองไทยว่า 12 ปีหลังการรัฐประหาร 2549 ประเทศไทยได้สูญเสียโอกาสในการก้าวข้ามพ้นประเทศรายได้ระดับปานกลางสู่ประเทศพัฒนาแล้ว เนื่องจากเราติดกับดักในวิกฤตการณ์ทางการเมืองและการรัฐประหารสองครั้งในทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะเรียกว่าเป็น "ทศวรรษแห่งความถดถอยและสูญเสียโอกาส" รัฐประหารปี 2549 ได้รับการพิสูจน์แล้วว่านอกจากไม่สามารถแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมืองแล้ว ยังทำให้ปัญหาความขัดแย้งทรุดหนักมากกว่าเดิมในระยะต่อมา
หลังจากรัฐประหารปี 2549 เพียง 8 ปีก็เกิดรัฐประหารอีกครั้งหนึ่งในปี 2557 รัฐประหารปี 2549 เมื่อ 12 ปีที่แล้ว ได้ทำลายภาพพจน์ของประเทศในฐานะประเทศที่มีประชาธิปไตยก้าวหน้าที่สุดในอาเซียน เป็นการเปิดประตูให้กับการใช้กำลังในการทำลายระบบนิติรัฐและกติกาสูงสุดอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ประเทศได้สถาปนาระบอบประชาธิปไตย พร้อมทั้งหลักการนายกรัฐมนตรีต้องมาจากประชาชนหลังเหตุการณ์พฤษภา 2535 และ การได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี 2540
12 ปีหลังการรัฐประหาร ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรี 6 คน มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อยครั้ง ทำให้ไม่สามารถปฏิรูปเศรษฐกิจและแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจได้มากนัก การมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ที่ควบคุมอำนาจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่มุ่งปฏิรูปการเมืองให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมีความเข้มแข็งและมีเสถียรภาพ ความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรงต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ในยุครัฐบาลสมัคร ต่อมาจนถึง รัฐบาลสมชาย รัฐบาลอภิสิทธิ์ จนกระทั่งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ทำให้รัฐบาลไม่สามารถทำงานด้านนโยบายระยะยาวให้กับประเทศได้ ขณะที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มีความล้าหลังและมีเนื้อหาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 เสียอีก
"จึงไม่อาจคาดหวังได้ว่าหลังการเลือกตั้งต้นปี 2562 แล้ว ประเทศไทยจะได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่มีความเข้มแข็งมั่นคง อย่างไรก็ตาม หากประชาชนช่วยกันแสดงเจตนารมณ์ผ่านการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างเป็นเอกภาพ และสามารถจัดตั้งรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่มีเสถียรภาพ โอกาสในการผลักดันให้ประเทศก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วในทศวรรษหน้าย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้" นายอนุสรณ์กล่าว
พร้อมระบุว่า รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารสองรัฐบาลในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา จะสนองตอบกลุ่มที่สนับสนุนการรัฐประหารมากกว่าประชาชนโดยรวม จึงพบว่างบประมาณทหารจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากในยุครัฐบาลรัฐประหาร โดยรัฐบาลประยุทธ์มีการจัดสรรงบประมาณให้กระทรวงกลาโหมสูงกว่ารัฐบาลสุรยุทธ์อย่างมากแม้นจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารเหมือนกัน นอกจากนี้รัฐบาล คสช.ยังก่อหนี้ผูกพันในงบประมาณแผ่นดินไปจนถึงปี พ.ศ.2565 นอกจากนี้งานวิจัยจำนวนมากยังบ่งชี้ว่า ระบอบประชาธิปไตยจะมีการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ การศึกษา สาธารณสุข สูงกว่าระบอบเผด็จการและสามารถรับมือวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจได้ดีกว่าด้วย
แม้นการรัฐประหารหลายครั้งในประเทศไทย จะไม่มีการสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อในช่วงการก่อรัฐประหาร แต่มักจะนำมาสู่ความรุนแรงนองเลือดในภายหลัง เช่น การรัฐประหารปี 2549 เป็นผลต่อเนื่องทำให้เกิดการชุมนุมทางการเมืองและนำมาสู่การปรามปรามผู้ชุมนุมในปี พ.ศ. 2552 และ พ.ศ. 2553 การรัฐประหารปี 2534 ทำให้ต่อมาเกิดเหตุการณ์เดือนพฤษภาปี 2535 ต่อต้านนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งซึ่งเป็นแกนนำของคณะรัฐประหาร รสช เป็นต้น แม้นการรัฐประหารปี พ.ศ. 2557 จะไม่มีความรุนแรงนองเลือดแต่หลังการรัฐประหารได้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางและมีประชาชนถูกดำเนินคดีและคุมขังจำนวนมากอย่างไม่เป็นธรรม หากมีการสืบทอดอำนาจโดยไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยหลังการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2562 จะเกิดความเสี่ยงในการเกิดการเผชิญหน้าและความขัดแย้งทางการเมืองรอบใหม่ได้และ เราจะอยู่ในระบอบกึ่งประชาธิปไตยภายใต้การสืบทอดอำนาจของ คสช.หากกองทัพถอยออกจากการเมืองและมีความเป็นทหารอาชีพ ไม่เข้าแทรกแซงด้วยการก่อรัฐประหารอีก ปล่อยให้ปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมืองในอนาคตถูกแก้ไขโดยกลไกรัฐสภาและกระบวนการทางกฎหมาย ระบอบประชาธิปไตยย่อมมีความมั่นคงและเป็นรากฐานสำคัญต่อความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน
ความเสียหายทางเศรษฐกิจ โอกาสทางการลงทุน การชะงักงันของกิจกรรมและธุรกรรมทางเศรษฐกิจการค้า ย้อนกลับไปที่ข้อมูลในอดีต ตอนรัฐประหาร 19 กันยายน 49 ตลาดหุ้นเปิดทำการซื้อขายวันแรกหลังรัฐประหาร (21 กันยา) ปรับตัวลงไปแรงที่สุด 29.56 คิดเป็น 4.2% ช่วงเปิดตลาดแต่ช่วงใกล้ปิดตลาดดัชนีกระเตื้องขึ้นจึงปรับตัวลงไปเพียง 1.42% เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจขณะนั้นยังแข็งแรงอยู่ ตอนรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 ในวันถัดมาหลังรัฐประหารดัชนีปรับลงแรง 57.4 จุดหรือ 7.25% หากตั้งสมมุติฐานว่า ไม่มีการรัฐประหารสองครั้งและไม่มีวิกฤตการณ์ทางการเมืองรุนแรงในรอบ 12 ปีที่ผ่านมา และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยโดยเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 5% ในช่วง 12 ปีที่ผ่านมารวมทั้งสมมติให้ปัจจัยอื่นๆคงที่เมื่อเทียบกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นเราจะสามารถประมาณการเบื้องต้นความเสียหายทางเศรษฐกิจจากการรัฐประหารได้แม้นรัฐประหารจะไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้นก็ตามการรัฐประหารและการฉีกรัฐธรรมนูญก่อให้เกิดความไม่แน่นอนทางการเมืองอันส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นต่อการลงทุนและการบริโภค ความเสียหายทางเศรษฐกิจ โอกาสทางเศรษฐกิจ การลงทุน การค้า และโอกาสในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนจะอยู่ที่ประมาณ 10.970 ล้านบาทเทียบเท่ากับ 3.65 เท่าของเม็ดเงินงบประมาณปี 2562 และเม็ดเงินดังกล่าวหากไม่เสียหายไปจากผลกระทบของการรัฐประหารประเทศและวิกฤตการณ์ทางการเมืองย่อมสามารถนำมาใช้พัฒนาประเทศได้โดยไม่ต้องเก็บภาษีไม่ต้องก่อหนี้สาธารณะเป็นเวลา 3.65 ปี
ก่อนการรัฐประหารปี พ.ศ. 2549 อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยอยู่ในระดับสูง ในปี พ.ศ. 2545 อยู่ที่ 6.1% ในปี พ.ศ. 2546 อยู่ที่ 7.2% ในปี พ.ศ. 2547 อยู่ที่ 6.3% โดยเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวลงเล็กน้อยในปี พ.ศ. 2548 มาอยู่ที่ 4.2% หลังจากเริ่มเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยในช่วง 12 ปีที่ผ่านมาหลังจากการรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ลดต่ำลงและต่ำกว่า 4% โดยส่วนใหญ่ยกเว้นในปี พ.ศ. 2550, 2553 และ 2556นอกจากนี้ การลงทุนจากต่างประเทศ การช่วยเหลือจากต่างประเทศ และ การเจรจาเพื่อทำข้อตกลงทางการค้าเกิดสภาวะชะงักงันหลังการรัฐประหารทั้งสองครั้ง (ปี 2549 และ ปี 2557)และปรับดีขึ้นหลังประเทศกลับคืนสู่รัฐบาลเลือกตั้ง
นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า หากเปรียบเทียบผลกระทบทางเศรษฐกิจของรัฐประหารปี 2549 กับ รัฐประหารปี 2557 จะมีความแตกต่างกัน เนื่องจากรัฐประหารปี 49 เกิดขึ้นในภาวะที่เศรษฐกิจดีกว่า ขณะที่ความขัดแย้งและวิกฤตการณ์ทางการเมืองปี 2557 ก็มีความซับซ้อนมากกว่า ในอนาคตขอให้ติดตามพลวัตของผลพวงของรัฐประหารปี 2557 พลวัตของการสืบทอดอำนาจของ คสช. หลังการเลือกตั้งและการต่อต้านการสืบทอดอำนาจว่าจะมีพัฒนาการอย่างไรต่อไปหลังการเลือกตั้ง หากการจัดการเลือกตั้งมีความเสรีและเป็นธรรมเป็นไปตามมาตรฐานสากล กระบวนการเปลี่ยนผ่านอำนาจจะเป็นไปอย่างสันติและเป็นไปตามความต้องการของประชาชนจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศในอนาคต
นายอนุสรณ์ เสริมว่า ระบอบประชาธิปไตยทำให้ระบบตลาดทำงานได้ดีและสร้างธรรมาภิบาลได้ดีกว่าระบอบเผด็จการงานวิจัยของ Barro (1996) ใช้แบบจำลองการขยายตัวทางเศรษฐกิจ วิเคราะห์ผลกระทบของระบอบประชาธิปไตยโดยใช้ตัวแปรเสรีภาพทางการเมืองต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจระหว่างปี ค.ศ. 1960-1990 ของ 100 กว่าประเทศ ได้ข้อสรุปว่าตัวแปรประชาธิปไตยมีความสัมพันธ์เป็นบวกต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจเมื่อควบคุมผลของตัวแปรกับตัวแปรอื่นแต่ความสัมพันธ์ไม่เป็นเส้นตรง นอกจากนี้ งานวิจัยของ Plumper and Martin (2003) ระดับความเป็นประชาธิปไตยมีความสัมพันธ์ในทางบวกต่อการขยายตัวของรายได้ต่อหัว และการใช้จ่ายรัฐบาลจะมีผลต่อการขยายตัวสูงกว่าประเทศที่มีการพัฒนาประชาธิปไตยต่ำ งานวิจัยช่วยอธิบายว่า ทำไมรัฐบาล คสช.อัดฉีดงบประมาณการใช้จ่ายจำนวนมากเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแต่มีผลกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจน้อยกว่าที่ควรจะเป็นงานวิจัยของ Lee (2005) ทดสอบความสัมพันธ์ของการใช้จ่ายของรัฐ ความเป็นประชาธิปไตย กับการกระจายรายได้โดยประมาณการสมการเศรษฐมิติจากข้อมูลจาก 64 ประเทศพบว่า ความเป็นประชาธิปไตยและการใช้จ่ายของรัฐมีปฏิสัมพันธ์กันในการส่งผลต่อความเท่าเทียมกันของรายได้ภายในประเทศ ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยทำให้การกระจายรายได้ดีขึ้น ส่วนประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย การเพิ่มขนาดของรัฐนำไปสู่การกระจายได้ที่แย่ลง
นายอนุสรณ์ ได้อ้างถึงงานวิจัยของ พงศ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายยุทธนา เศรษฐปราโมทย์ อาจารย์ประจำคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เรื่อง "ผลกระทบทางเศรษฐกิจของความไม่แน่นอนทางการเมืองไทย" ว่า ตัวแปรทางเศรษฐกิจมหภาคนอกเหนือไปจากการเติบโตทางเศรษฐกิจในภาพรวม ได้แก่ การลงทุนและการบริโภค พบข้อมูลดังนี้ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่มาจากการชุมนุมขัดแย้งที่เพิ่มขึ้นทำให้การลงทุนปรับตัวหดลง -1.8% อย่างไรก็ตาม ผลจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในด้านอื่นๆ (กฎอัยการศึก, การรัฐประหาร และเลือกตั้ง) มีผลในขนาดที่น้อยกว่า ขณะที่ "ความผันผวนของการลงทุน" จะขึ้นอยู่กับความไม่แน่นอนทางการเมืองด้านการชุมนุมขัดแย้งการตอบสนองของการบริโภคต่อความไม่แน่นอนทางเมือง พบว่ารุนแรงน้อยกว่าผลต่อการลงทุนภาคเอกชน โดยผลกระทบที่เห็นชัดเจนที่สุดคือ การเพิ่มขึ้นของระดับความขัดแย้งจากการชุมนุม และด้านการเลือกตั้งที่จะส่งผลต่อการบริโภคภาคเอกชนลดลง -0.3% โดยผลกระทบจะมีผลต่อเนื่องประมาณ 2-4 ไตรมาสก่อนที่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะค่อยๆ ลดลงหลัง 1 ปีความไม่แน่นอนทางการเมืองในภาพรวม และในดัชนีย่อยมีผลเชิงลบต่ออัตราการเติบโตของระดับผลผลิตตามศักยภาพของไทยในเกือบทุกกรณี ยกเว้นเพียงผลของความไม่แน่นอนด้านการชุมนุมขัดแย้งที่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ และเมื่อพิจารณาผลิตภัณฑ์มวลรวมแยกตามรายสาขาการผลิต พบว่า การโรงแรม อสังหาริมทรัพย์ และการบริการขนส่ง เป็น 3 สาขาที่มีการตอบสนองต่อการเพิ่มขึ้นของความไม่แน่นอนทางการเมืองโดยรวมที่ชัดเจน
นายอนุสรณ์ ยังได้กล่าวอ้างงานวิจัยสำคัญต่างๆเพิ่มเติมเพื่อชี้ให้เห็นว่าระบอบประชาธิปไตยจะส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาวมากกว่า โดยเฉพาะมิติทางด้านความเป็นธรรมและการกระจายรายได้ เช่น Barro (1996), Glasure, Lee and Norris (1999), Plumper and Martin (2003), Doucouliagos and Ulubasoglu (2008), Rodrik and Wacziarg (2005) เป็นต้น แสดงถึง ความสัมพันธ์ของระดับประชาธิปไตย การใช้กฎอัยการศึกษาและการจำกัดเสรีภาพ (การปกครองแบบรวมอำนาจ) กับ การพัฒนาเศรษฐกิจ พบข้อสรุปจากงานวิจัยสำคัญๆ สอดคล้องกันว่า ในระยะยาว ระบอบประชาธิปไตยทำให้เสถียรภาพและการขยายตัวทางเศรษฐกิจดีขึ้นมากกว่าระบอบอำนาจนิยมหลายเท่าตัวเพราะการมีส่วนร่วมของประชาชนและเสรีภาพในการประกอบการ เสรีภาพทางความคิดและการแสดงออกทำให้เกิดนวัตกรรมและงานสร้างสรรค์
นอกจากนี้ ยังพบว่าประเทศที่มีประชาธิปไตยในระดับสูง ความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจจะสูงขึ้น ความเหลื่อมล้ำลดลง เสถียรภาพของสังคมสูงกว่า ความแตกแยกต่ำกว่า สถาบันต่างๆมีความเข้มแข็งและธนาคารกลางมีความเป็นอิสระมากกว่า การเป็นประชาธิปไตยมีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจผ่านสี่ช่องทางคือ ทุนกายภาพดีกว่า ทุนมนุษย์สูงกว่า ทุนทางสังคมและการเมืองมากกว่าระบอบอำนาจนิยม (Persson and Tabellini 2006) นอกจากนี้ระบอบประชาธิปไตยยังเผชิญหน้ากับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจได้ดีกว่าระบอบอำนาจนิยม (Rodrik 2007)