ศาลรัฐธรรมนูญ นัดพิจารณาคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ว่าความเป็น รัฐมนตรีของ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 187 หรือไม่อีกครั้งในวันที่ 17 ต.ค. เวลา 13.30 น. หลังวันนี้ไต่สวนพยานบุคคล 3 ปาก ที่ได้ตอบข้อซักถามของศาลและของคู่กรณี คดีเป็นอันเสร็จสิ้นการไต่สวน
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติชี้ว่า นายดอน ขาดคุณสมบัติดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี กรณีภรรยาถือครองหุ้นขัดกฎหมาย มีหุ้นในธุรกิจเกินกว่า 5% และไม่แจ้งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ภายในเวลาที่กำหนด เข้าลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ
ในวันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ ได้ออกนั่งพิจารณาคดีเพื่อไต่สวนพยานบุคคลที่ศาลเรียกมาให้ถ้อยคำ รวม 3 ปาก คือ 1.นายมนัส สุขสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงของ กกต. 2.นายภัฏฏการก์ บุนนาค กรรมการผู้จัดการบริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที่ จำกัด ซึ่งเป็นพี่ชายของนางนรีรัตน์ ปรมัตถ์วินัย ภริยาของนายดอน และ 3.นายตรีวัฒน์ ทังสุบุตร กรรมการผู้จัดการบริษัท ปานะวงศ์ จำกัด ซึ่งเป็นบิดาของนางนรีรัตน์
การไต่สวนครั้งนี้พยานได้ตอบข้อซักถามของศาลและคู่กรณีเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามคำชี้แจงของนายดอนว่านางนรีรัตน์ ภริยาได้โอนหุ้นของบริษัท ปานะวงศ์ และ บริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที่ ไปให้บุตรชายภายในกำหนดเวลาหลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 เม.ย.60
นายมนัส ให้การว่า ตามหลักฐานที่คณะกรรมการไต่สวนฯ ได้รับแจ้งจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น ซึ่งขัดกับเอกสารที่ได้รับแจ้งจากทางบริษัททั้งสอง ทำให้เห็นว่าเอกสารของบริษัททั้งสองไม่น่าเชื่อถือ เป็นการทำเอกสารย้อนหลัง
ขณะที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพยายามสอบถามถึงใบนำส่งเอกสารการเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้นที่บริษัทฯ มีถึงกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และการประชุมผู้ถือหุ้นในปี 60 ที่ไม่มีวาระการประชุมตามปกติเหมือนที่ผ่านมา เช่น การแต่งตั้งผู้ตรวจสอบบัญชี การพิจาณาผลการดำเนินงาน ซึ่งนายภัฏฏการก์ และนายตรีวัฒน์ ชี้แจงว่ามีการทำหนังสือแสดงเจตนาการโอนหุ้นดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย.60 หลังจากนั้นนได้มอบหมายให้สำนักงานบัญชีไปดำเนินการแทนในเรื่องการติดต่อกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และเข้าใจว่าการโอนหุ้นดังกล่าวมีผลตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย.60