สื่อมวลชนประจำรัฐสภา ให้ฉายาสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ว่า "ขัน-ทีสีเขียว" ซึ่งมีที่มาจาก สนช.ชุดนี้ได้รับการคัดสรรโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.)ให้เข้ามาทำหน้าที่นิติบัญญัติ ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่มาจากสายทหารและข้าราชการประจำ และอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จนถูกมองว่าเป็นสภาสีเขียว
นอกจากนั้น สนช.ชุดนี้ยังออกกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ให้กับคมช.และเพิ่มอำนาจทหารมากขึ้น โดยไม่สนใจเสียงคัดค้านอย่างหนักจากหลายองค์กร และที่ถือว่าเป็นการทิ้งทวนของสนช.ชุดนี้คือการผ่านกฎหมาย 70 ฉบับภายในเวลาเพียง 3 วัน สิ่งเหล่านี้ตอกย้ำให้เห็นการกระทำว่าสนช.มีกริยาเปรียบได้กับนกเขาที่เมื่อเจ้าของดีดนิ้วก็พร้อมขันตอบรับตามสัญชาตญาณทันที
ส่วนนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสนช.ได้ฉายาว่า "ซีอีโอ สนช." เพราะได้รับความไว้วางใจจาก คมช.ให้มาเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ โดยไม่ได้ทำให้ผู้แต่งตั้งผิดหวังเพราะสามารถลำเลียงกฎหมายที่รัฐบาลและคมช.ต้องการ เข้าสู่ที่ประชุมได้อย่างไม่บกพร่อง และใช้ความเด็ดขาดในการควบคุมการประชุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถคุมกลุ่มก๊กต่างๆ ได้ดี เป็นที่เกรงใจของสมาชิก สนช.ราวกับพนักงานที่เกรงใจซีอีโอของบริษัทเอกชน
ขณะที่สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) ได้รับฉายาว่า "แสบสนิทศิษย์ คมช." โดยพฤติกรรมที่เด่นชัดคือ การพ่วงบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในกรณีการนิรโทษกรรม คมช. รวมทั้งข่าวต่างๆ เช่น การทำงานที่ขัดแย้งกันเองใน ส.ส.ร. ไม่เว้นแม้แต่ความไม่โปร่งใสในการจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 50
นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวรัฐสภาได้ให้ตำแหน่งดาวเด่น และดาวดับของสภาด้วยเช่นกัน โดยตำแหน่งดาวเด่น คือ นายวิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ เป็นสนช.สายสังคม มีบทบาทโดดเด่นในการเสนอกฎหมายด้านสังคม โดยเฉพาะการปกป้องสิทธิของผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ไม่เคยมีข้อครหาว่ารับผลประโยชน์กับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด และยังเข้าประชุมอย่างสม่ำเสมอ
ขณะที่ดาวดับ คือ พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน เพราะแรกเริ่มประกาศตัวจะเข้ามาเป็นมือปราบคอรัปชั่นโดยเฉพาะการตรวจสอบทุจริตในสนามบินสุวรรณภูมิ แต่ท้ายสุดกลับถูกข้อกล่าวหาว่าไม่โปร่งใสเสียเองในระหว่างเป็นผู้บริหารองค์การแบตเตอรี่ รวมถึงถูกปลดจากตำแหน่งรองปลัดกระทรวงกลาโหมหลังมีปัญหากระทบกระทั่งกับผู้บังคับบัญชา
ส่วนคู่กัดแห่งปีต้องยกให้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ กับ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ที่ก่อนหน้านี้ทั้งคู่ต่างเป็นแคนดิเดทตำแหน่งประธาน สนช. แต่ท้ายสุดก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับนายมีชัย ซึ่งหลังจากนั้นกฎหมายฉบับไหนนายมีชัยสนับสนุน น.ต.ประสงค์ ก็จะค้านอย่างเต็มที่ เวทีไหนมีน.ต.ประสงค์ ก็จะไม่มีนายมีชัย เข้าทำนองเสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้
สำหรับวาทะแห่งปี คือ "ไปตายเอาดาบหน้า" เป็นคำพูดของนายมีชัย ขณะทำหน้าที่ประธานที่ประชุมสนช.ในระหว่างการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวมในวาระ 2 ซึ่งนายมีชัย ได้ทักท้วงว่าคณะกรรมาธิการ(กมธ.)กำหนดรายละเอียดข้อห้ามในการรับของกว้างเกินไป แม้แต่การไปตรวจราชการแล้วประชาชนนำผ้าขาวม้ามาผูกหรือเอาลองกองมาให้กินก็ยังรับมาเป็นของส่วนตัวไม่ได้ต้องนำเข้าเป็นของหลวงเท่านั้น
แต่ทางกมธ.ยังยืนยันตามร่างเดิม ทำให้นายมีชัย กล่าวเชิงประชดว่า "ถ้าอย่างนั้นให้ไปตายเอาดาบหน้าแล้วกัน" จนในที่สุดกมธ.จึงได้นำร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวไปปรับปรุงใหม่ให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริง
--อินโฟเควสท์ โดย รฐฦ/กษมาพร โทร.0-2253-5050 อีเมล์: kasamarporn@infoquest.co.th--