พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.บ.เพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การปล่อยตัวชั่วคราว ตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมเสนอ
"อันนี้สืบเนื่องมาจากท่านนายกฯ เคยให้นโยบายไว้ว่า สังคมไทยชอบให้ข้อมูลในลักษณะตัดพ้อว่าคนจนติดคุก คนรวยรอด" พล.ท.สรรเสริญ กล่าว
ทั้งนี้ เดิมได้กำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้ต้องหาในคดีที่มีโทษตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปต้องมีเงินประกัน ทำให้ผู้ที่เดือดร้อนขัดสนไม่มีเงินต้องถูกคุมขังแทน เป็นปัญหาคนล้นคุกเนื่องจากพื้นที่ไม่เพียงพอ จึงได้ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขใหม่เป็นคดีที่มีโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปจึงต้องมีเงินประกัน ส่วนคดีที่มีโทษจำคุกต่ำกว่า 10 ปีจะมีการกำหนดเงื่อนไขอื่น เช่น การกำหนดระยะเวลาให้มารายงานตัวต่อศาล
ส่วนกรณีที่สำนักงานศาลยุติธรรม เสนอเพิ่มเติมอีก 2 ข้อ คือ กำหนดให้ศาลมีอำนาจแจ้งตำรวจไปจับกุมตัวผู้ที่หนีประกัน หากเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ว่าง ให้ตำรวจศาลสามารถจับกุมตัวผู้ที่หนีประกันได้เอง ซึ่งในข้อนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาท้วงว่าจะเป็นการเพิ่มอำนาจให้เจ้าพนักงานศาลโดยไม่มีเหตุอันควร และ 2.กำหนดให้ศาลมีคำสั่งไม่ประทับฟ้องก่อนไต่สวนมูลฟ้องได้ กรณีที่เห็นว่าเป็นการใช้สิทธิ์โดยไม่สุจริต แต่หวังให้เกิดความวุ่นวายแก่ผู้ถูกฟ้องนั้น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาท้วงว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ได้กำหนดกระบวนการตรวจสอบคำฟ้องและไต่สวนมูลฟ้องให้อำนาจศาลเข้ามาตรวจสอบอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินการดังกล่าว
"ใน 2 กรณีนี้ ยังมีความเห็นไม่ตรงกัน แต่เพื่อให้กฎหมายเป็นประโยชน์ต่อผู้มีรายได้น้อย จึงเห็นชอบในหลักการเฉพาะประเด็นแรกข้อเดียว ส่วนอีก 2 เรื่องเอาไว้ทำที่หลัง" พล.ท.สรรเสริญ กล่าว