"อนุสรณ์"เผยตลอดระยะเวลา 40 กว่าปีหลัง 14 ตุลาคม และ 6 ตุลาคม ความรุนแรงทางการเมืองยังคงเกิดขึ้นอยู่

ข่าวการเมือง Sunday October 7, 2018 17:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองประธานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวถึงพัฒนาการเศรษฐกิจการเมืองไทยหลังครบรอบ 42 ปีหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ว่า สังคมไทยต้องเรียนรู้อดีตและศึกษาประวัติศาสตร์เป็นบทเรียนเพื่อก้าวข้ามพ้นความขัดแย้งและวิกฤตการณ์ทางการเมืองในอนาคตรวมทั้งการแก้ปัญหาต่างๆด้วยยึดมั่นแนวทางสันติวิธีเพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรงนองเลือดสังคมไทยจะสามารถเปลี่ยนผ่านจากระบอบรัฐประหารสู่ระบอบกึ่งประชาธิปไตยหลังการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 ด้วยความเรียบร้อยหากเราสามารถจัดการเลือกตั้งอย่างเสรีเป็นธรรมและเป็นไปตามมาตรฐานสากลการเลือกตั้งที่ทุกฝ่ายยอมรับผลการเลือกตั้งจะนำมาสู่ความมีเสถียรภาพทางการเมืองอันเป็นพื้นฐานสำคัญในการทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวและฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้การเลือกตั้งจะกดดันให้พรรคการเมืองต่างๆต้องแข่งขันการนำเสนอนโยบายที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนมากขึ้น ด้วยการเพิ่มสวัสดิการ ลดความเหลื่อมลดการผูกขาด เพิ่มกระจายตัวของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเมืองผูกขาดภายใต้ระบอบอุปถัมภ์ทำให้ธุรกิจรายกลางรายเล็กไม่ได้รับความเป็นธรรมยังไม่ได้รับการแก้ไขจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงระบอบอุปถัมภ์เป็นระบอบธรรมาภิบาลและความเท่าเทียม นอกจากนี้การทำลายประชาธิปไตยด้วยการรัฐประหารเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชันไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้จริง และ ยังไปทำลายกลไกตรวจสอบถ่วงดุล ทำลายการมีส่วนร่วมปิดกั้นเสรีภาพทางวิชาการและเสรีภาพสื่อมวลชนในการวิพากษ์วิจารณ์ทำให้การแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันมีความยากลำบากมากยิ่งขึ้นการรัฐประหารจึงไม่ใช่ทางออกของปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมต่างหากที่จะทำให้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันลดลงในระยะยาวและสามารถนำเอาผู้นำทางการเมืองที่ทุจริตเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้เช่นเดียวกับ ประเทศในสหภาพยุโรป ประเทศนิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ เป็นต้น

ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perception Index - CPI) ในปี พ.ศ. 2560 ไทยอยู่อันดับที่ 96 เท่ากับคะแนนเมื่อปี พ.ศ. 2555 ไม่ได้ดีขึ้นแต่อย่างใด ตามผลการสำรวจดังกล่าว ประเทศไทยได้คะแนนความโปร่งใส 37 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน (คะแนนความโปร่งใสยิ่งมากแสดงว่ามีการคอร์รัปชันน้อย) จัดอยู่ในอันดับที่ 96 (ร่วมกับประเทศอื่นๆ ที่ได้คะแนนเท่ากันอีก 6 ประเทศ เช่น บราซิลและอินโดนีเซีย) จาก 180 ประเทศที่มีการสำรวจคะแนนความโปร่งใสของทั้งอินโดนีเซียและเวียดนามมีแนวโน้มที่ดีขึ้นตลอดช่วง 6 ที่ผ่านมา ขณะที่ฟิลิปปินส์เคยมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ก่อนจะค่อยๆ แย่ลง ขณะที่คะแนนของไทยนั้นแทบไม่เปลี่ยนแปลงเลย

นอกจากคะแนนความโปร่งใสจะมิได้มีแนวโน้มที่ดีขึ้นแล้วคะแนนของไทยยังต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของคะแนนเต็มและต่ำค่าเฉลี่ยของประเทศต่างๆทั่วโลก จึงอาจกล่าวได้กว่าไทยสอบตกในเรื่องภาพลักษณ์ความโปร่งใสมาโดยตลอด ในการจัดทำ CPI ประจำปีพ.ศ. 2559 ภายใต้รัฐบาล คสช ที่ประกาศให้ความสำคัญกับการปราบปรามการทุจริตไทยได้คะแนนความโปร่งใสเพียง 35 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 คะแนนโดยอยู่ในอันดับที่ 101 จาก 176 ประเทศที่มีการสำรวจ เรียกว่าอันดับร่วงลงไปถึง 25 อันดับจากปีก่อนหน้าเลยทีเดียว โดยคะแนนที่ลดลงนั้นอาจเกิดจากการเพิ่มตัวชี้วัดด้านประชาธิปไตยเข้ามาพิจารณาด้วย

"การที่มูลนิธิองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทยถอนตัวออกจากองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International-TI) ในช่วงที่ผ่านมา โดยอ้างว่ามีตัวชี้วัดที่มีอคติและไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงจึงเป็นเรื่องเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับตัวชี้วัดทางด้านประชาธิปไตย โครงการความหลากหลายของประชาธิปไตย (Varieties of Democracy Project)หรือ V-dem เป็นโครงการซึ่งจัดทำร่วมกันระหว่างภาควิชารัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Gothenburg ประเทศสวีเดน กับ มหาวิทยาลัย Notre Dame สหรัฐอเมริกา รวมถึงหน่วยงานวิชาการอื่นๆ อีกมากกว่า 50 หน่วยงาน ผลงานหลักของโครงการดังกล่าวคือชุดข้อมูลและตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยจำนวนกว่า 400 ชุดที่ครอบคลุมประเทศต่างๆ 177 ประเทศทั่วโลก ทั้งนี้ ตัวชี้วัดที่ TI นำมาใช้ใน CPI คือตัวชี้วัดการคอร์รัปชันระดับการเมือง (Political Corruption) ซึ่งประกอบด้วย (1) การคอร์รัปชันในภาครัฐ (2) การคอร์รัปชันในฝ่ายบริหาร (3) การคอร์รัปชันในกระบวนการนิติบัญญัติ และ 4) การคอร์รัปชันในฝ่ายตุลาการ ตามข้อมูลตัวชี้วัดการคอร์รัปชันระดับการเมืองล่าสุดของ V-dem นั้น ไทยมีการคอร์รัปชันสูงสุดเป็นอันดับสามในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (คะแนนยิ่งสูงยิ่งแสดงว่ามีการคอร์รัปชันมาก) รองจากแค่กัมพูชา และลาวแต่หากใช้ตัวชี้วัดด้านประชาธิปไตยตามที่ ป.ป.ช.กล่าวอ้างถึงสาเหตุที่คะแนนความโปร่งใสของไทยลดลงนั้นจะหมายถึงดัชนีประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม Liberal Democracy Index) หรือดัชนีประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง (Electoral Democracy Index) ไทยจะได้คะแนนน้อยที่สุดเป็นอันดับสองในอาเซียน (คะแนนยิ่งสูงยิ่งแสดงว่าระดับความเป็นประชาธิปไตยสูง) ดีกว่าลาวแค่ประเทศเดียวตัวชี้วัดการคอร์รัปชันระดับการเมืองของ V-dem มิได้เป็นการวัดระดับความเป็นประชาธิปไตยโดยตรงโดยประเทศที่มีระดับความเป็นประชาธิปไตยสูงกว่าจะนำไปสู่การทุจริตที่น้อยกว่าแต่ในประเทศที่ใช้ระบอบอำนาจนิยมอาจมีการทุจริตลดลงได้หากมีกลไกความรับผิด (Accountability) ที่เข้มแข็ง เช่น การตรวจสอบถ่วงดุลจากทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการ ดังนั้น นัยที่มีต่อประเทศไทยคือรัฐบาลทหารอาจทำให้ดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชันดีขึ้นได้ถ้ามีการสร้างกลไกความรับผิดที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลากว่า 4 ปี นับตั้งแต่การรัฐประหารปี 2557 จะพบว่า กลไกเหล่านี้ยังทำหน้าที่ไม่เต็มประสิทธิภาพ

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่3 (พ.ศ. 2515-2519) มีเหตุการณ์ทางการเมืองสำคัญสองเหตุการณ์ คือ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 และ เหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ช่วงนั้นเศรษฐกิจไทยยังได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์น้ำมันโลกครั้งที่หนึ่งในปี พ.ศ. 2516-2517 ทำให้เกิดภาวะความยากลำบากทางเศรษฐกิจซ้ำเติมระบอบประชาธิปไตยและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่ยังอ่อนแอ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ทำให้ระบอบเผด็จการทหารคณาธิปไตยที่อยู่ในอำนาจการปกครองประเทศมาอย่างยาวนานนับจากการรัฐประหาร พ.ศ. 2500 ถูกโค่นล้มโดยขบวนการประชาธิปไตยของนิสิตนักศึกษาประชาชน แต่พลังอำนาจนิยมเผด็จการขวาจัดได้ทำให้ให้ระบอบประชาธิปไตยไทยถอยหลังอีกครั้งหนึ่งหลังจากได้สร้างสถานการณ์ความรุนแรงในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ผลสะเทือนของทั้งสองเหตุการณ์ได้ทำให้ผู้มีอำนาจรัฐต้องยอมรับระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภามากขึ้นและต้องฟังเสียงการมีส่วนร่วมของประชาชนเจ้าของประเทศมากขึ้นสังคมไทยเรียนรู้การแก้ปัญหาความขัดแย้งและวิกฤตการณ์ทางการเมืองด้วยแนวทางสันติวิธีมากขึ้น 42 ปีหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 โครงสร้างเศรษฐกิจไทยได้ปรับเปลี่ยนจากประเทศเกษตรกรรมสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมมากขึ้นตามลำดับและมีสัดส่วนของภาคบริการที่ขยายเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ประเทศไทยสามารถก้าวจากประเทศด้อยพัฒนายากจนสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางโดยช่วงเวลาที่ประเทศไทยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับสูงสองช่วง คือ ช่วงทศวรรษ 2530 และ ช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 2540 โครงสร้างการผูกขาดทางเศรษฐกิจและการเมืองได้คลายตัวลงในบางช่วงโดยเฉพาะหลังมีการปฏิรูปการเมืองในปี พ.ศ. 2540 ช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจการเงินปี 2540 และมีการร่างรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 ซึ่งเกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง จึงเรียกรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

อย่างไรก็ตามหลังจากที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองในปี พ.ศ. 2549 ระบอบอำนาจนิยมได้ฟื้นตัวอีกครั้งหนึ่ง มีการรัฐประหารขึ้นในเดือนกันยายน พ.ศ.2549 และได้คืนอำนาจให้ประชาชนภายใน 1 ปีแต่ก็ยังเกิดปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมืองและปัญหาเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งมีการรัฐประหารอีกครั้งหนึ่งในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2557 และล่าสุดได้มีการประกาศคืนอำนาจให้ประชาชนโดยจะจัดให้มีการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 แต่ระบอบการเมืองหลังการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 ทำได้แค่พาประเทศไทยเข้าสู่ระบอบกึ่งประชาธิปไตยในยุคทศวรรษ 2520 ซึ่งเป็นระบอบที่ไม่สอดคล้องอย่างยิ่งต่อสภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันและอนาคตจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการขับเคลื่อนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีความเป็นประชาธิปไตยหลังการเลือกตั้ง ตลอดระยะเวลา 45 ปีหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม และ 42 ปีหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ความเป็นจริงที่พวกเรารับทราบ ก็คือความรุนแรงทางการเมืองยังคงเกิดขึ้นอยู่ไม่ว่าจะเป็นการเสียชีวิตของประชาชนจากเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยเดือนพฤษภาคม 2535 หรือ พฤษภาคม 2553 หรือ เหตุการณ์รุนแรงช่วงปี 2551-2552 การรัฐประหารและความพยายามก่อการยึดอำนาจด้วยกำลังยังคงเกิดขึ้นหลายครั้งสิ่งเหล่านี้ได้ส่งผลต่อพัฒนาการทางด้านเศรษฐกิจการเมืองและสังคมในระยะเวลาต่อมาหากเราพยายามแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมืองผ่านกลไกรัฐสภาและยึดถือหลักนิติรัฐนิติธรรมปัญหาความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมจะได้รับการแก้ไขภายใต้ระบอบที่ประชาชนและชาวบ้านทั่วไปมีสิทธิมีเสียงและมีการส่วนร่วมในการบริหารประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ