พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ (ครม.สัญจร) ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ซึ่งวาระที่น่าสนใจวันนี้ ประกอบด้วย กระทรวงคมนาคม จะเสนอโครงการก่อสร้างโครงการท่าเทียบเรือแหลมฉบังเฟส 3 ศูนย์ซ่อมอากาศยาน MRO อู่ตะเภา โครงการทางหลวงระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ช่วงนครปฐม-ชะอำ ศูนย์การขนส่งชายแดนนครพนม และศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ
นอกจากนี้ ทางกระทรวงคมนาคม จะเสนอผลสรุปโครงการและรายละเอียดขอบเขตการประกวดราคา(TOR)โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) วงเงิน 215,000 ล้านบาท ให้ ครม.สัญจร พิจารณา
กระทรวงการคลัง เสนอโครงการบ้านล้านหลัง เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลที่ต้องการช่วยเหลือให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัย ภายใต้กรอบวงเงิน 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งหลังจากครม.เห็นชอบแล้ว ภายใน 3 วัน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จะนำข้อมูลอยู่อาศัยเข้าร่วมโครงการกว่า 1 แสนยูนิต ประกาศขึ้นเว็บไซต์ให้ผู้ที่สนใจ สามารถยื่นจองสิทธิเพื่อขอสินเชื่อได้
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอโครงการนวัตกรรมเมืองสมุนไพร เพื่อนำสมุนไพรไทยไปใช้ในเชิงพาณิชย์เพิ่มรายได้ ให้กับเกษตรกร
นอกจากนี้ เตรียมเสนอ ครม. อนุมัติขยายจังหวัดที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มหลังเกษตรกรสมัครเข้าร่วมโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาเกินพื้นที่เป้าหมายเดิม 33 จังหวัด
โดยก่อนการประชุมครม.วันนี้ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ซึ่งภาคเอกชนกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ประกอบด้วย เชียงราย พะเยา แพร่ และน่าน เสนอของบประมาณราว 15,000 ล้านบาท ในการพัฒนา 7 ด้าน เช่น ด้านการท่องเที่ยว ที่ขอรับการสนับสนุนหลายโครงการ เช่น โครงการพัฒนาถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกครบวงจร โครงการสำรวจโบราณสถาน จ.น่าน, โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูชุมชนเมืองเก่าเวียงลอ จ.พะเยา
นอกจากนี้เสนอขอให้มีการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมนวัตกรรมดิจิทัลฯ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ อ.แม่สาย อ.เชียงแสน และ อ.เชียงของ รวมทั้งขอให้ขยายระยะเวลาสินเชื่อให้ SME
ส่วนโครงสร้างพื้นฐานขอรับการสนับสนุนเพิ่มประสิทธิภาพ บูรณะ เร่งรัดทางหลวง 24 สาย รวมถึงการพัฒนาระบบคมนาคมทางราง เช่น ศึกษาการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งทางราง จ.พะเยา, พัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างรถไฟความเร็วสูงเชียงใหม่ และโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ จ.พะเยา, ศึกษาแผนแม่บทรองรับรถไฟทางคู่เชื่อมโยงเด่นชัย-พะเยา-เชียงของ และจัดทำแผนแม่บทรองรับรถไฟทางคู่เชื่อมโยงเด่นชัย-พะเยา-เชียงของ
ด้านโครงข่ายทางอากาศ ศึกษาความเป็นไปได้สำหรับการก่อสร้างท่าอากาศยานพะเยา, ศึกษาความเหมาะสมศูนย์กระจายสินค้า จ.พะเยา รองรับรถไฟทางคู่เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เป็นต้น