นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พร้อมด้วยทีมงานอดีต ส.ส.ภาคใต้ ร่วมกันแถลงเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาสถานการณ์ราคายางพาราและปาล์มน้ำมันตกต่ำที่สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกร โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งทางพรรคได้เรียกร้องต่อรัฐบาลมาตลอดเวลาแต่ไม่ได้รับการตอบสนอง โดยในช่วงบ่ายวันนี้จะยื่นหนังสือถึงรัฐบาลอีกครั้ง
โดยในส่วนของยางพารานั้น ปชป.มีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ 3 แนวทาง คือ ข้อเสนอที่ 1 เพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศ โดยเฉพาะในส่วนของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลเคยประกาศไว้ว่าจะเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศให้ได้จำนวน 1 แสนตัน แต่ไม่สามารถผลักดันให้เกิดผลในทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม เพราะมีการใช้จริงแค่ 1,129 ตัน โดยมีเพียงหน่วยงานท้องถิ่นบางแห่งเท่านั้นที่สามารถดำเนินการเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง
"ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องเปิดเผยว่าจากที่เคยคิดจะใช้ยางพาราเป็นแสนตัน ในทางปฏิบัติได้รับซื้อเพื่อใช้ไปแล้วกี่ตัน เพราะเท่าที่ตรวจสอบเป็นสัดส่วนน้อยมากๆ รัฐบาลจึงต้องดูว่าเหตุใดหน่วยงานราชการจึงไม่ได้ใช้จริง ติดขัดที่ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง ติดขัดขั้นตอนการประมูล หรืออะไรก็แล้วแต่ ต้องแก้ปัญหาโดยทันที" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
ข้อเสนอที่ 2 สถานการณ์ราคายางพารามีความจำเป็นที่ชาวสวนยางต้องมีรายได้เสริม เช่น การปลูกพืชอื่นในสวนยาง แม้จะมีการผ่อนคลายเรื่องระเบียบกองทุนฯ ให้สามารถทำได้ แต่การทำงานก็ยังไม่ได้ทำในเชิงรุกเท่าที่ควร โดยหน่วยงานที่เกี่ยวต้องสนับสนุนการปลูกพืชเสริมและประสานงานในเรื่องตลาด ไม่ให้พืชที่ปลูกเสริมแล้วเกิดปัญหาล้นตลาดตามมาอีก จึงต้องมีแผนการตลาดรองรับให้มั่นใจว่าปลูกแล้วมีกำไรมีรายได้
ข้อเสนอที่ 3 การใช้ยางพาราโดยภาคเอกชนยังมีศักยภาพนำยางพาราไปแปรรูปในชุมชน เช่น ผลิตหมอนยางพารา ผลิตรองเท้า ซึ่งมีตลาดทั้งในและต่างประเทศรองรับ แต่ปัญหาอยู่ที่การจัดตั้งโรงงานระดับชุมชนมีปัญหาเรื่องผังเมือง ถ้าเร่งรัดเรื่องนี้จะช่วยให้ยางพาราแปรรูปได้ต่อไป
"สามเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรได้ แต่ถ้าหากเห็นว่ามายังไม่เพียงพอ ความจะนำหลักการเรื่องการประกันรายได้มาปรับใช้" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
หัวหน้าพรรค ปชป.กล่าวว่า สำหรับแผนงานในอนาคต รัฐบาลสามารถช่วยให้ราคายางพาราดีขึ้นในระยะกลางและระยะยาว เพราะประเทศไทยยังเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกรายใหญ่ และอยู่ในวิสัยที่ประเทศผู้ผลิตจะสามารถเจรจาหาความร่วมมือกันได้ แต่รัฐบาลต้องมีแผนงานที่ชัดเจนในการร่วมมือกับประเทศผู้ผลิตเพื่อต่อรองกับผู้ใช้ รวมถึงหาตลาดส่งออกใหม่ๆ และการแปรรูปที่ใหญ่กว่าระดับชุมชน รวมถึงการผลักดันนิคมอุตสาหกรรมยางพาราต้องมีกรอบเวลาที่ชัดเจนว่าจะผลักดันให้เกิดขึ้นเมื่อไหร่
ส่วนปัญหาราคาปาล์มตกต่ำนั้น ปัญหาหลักคือสต็อกที่ล้นตลาดอยู่ราว 3 แสนตัน หากสามารถขจัดสต็อกไปได้จะช่วยให้ราคาขยับขึ้นทันที โดยเสนอให้นำปาล์มน้ำมันไปใช้ผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้ากระบี่ โดยใช้เวลาขจัดสต็อกดังกล่าวราว 6 เดือน ซึ่งรัฐบาลจะใช้งบประมาณราว 3 พันล้านบาท
"ขณะนี้เหมือนรัฐบาลจะขยับเรื่องนี้ แต่แทนที่จะใช้โรงไฟฟ้ากระบี่กลับไปใช้โรงไฟฟ้าบางปะกง ทำให้สูญเสียค่าขนส่งโดยเปล่าประโยชน์ 1 บาท ต่อ 1 กิโล และศักยภาพก็ไม่เท่าโรงไฟฟ้ากระบี่" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
หัวหน้าพรรค ปชป.กล่าวว่า เรื่องเร่งด่วนเหล่านี้เป็นปัญหาที่ตอกย้ำสภาพของเศรษฐกิจที่โตยาก เนื่องจากคนส่วนใหญ่ขาดรายได้ ยังเป็นการตอกย้ำความเหลื่อมล้ำที่พรรคให้ความสำคัญเป็นพิเศษ นโยบายพรรคจะเปลี่ยนวิธีคิดบริหารเศรษฐกิจที่หลงกับตัวเลขภาพรวมจีดีพี แต่ใส่ใจรายได้จริงของประชาชน ไม่ว่าจะเป็น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ซึ่งมีคำตอบที่รัฐบาลควรทำงานเชิงรุก ถึงลูกถึงคนเพื่อช่วยประชาชนทันที